กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนระวังเพลี้ยกระโดดหลังขาวทำลายผลผลิตข้าว แนะปลูกสลับข้าวพันธุ์ต้านทาน

พฤหัส ๑๒ ตุลาคม ๒๐๒๓ ๑๕:๔๓
นายรพีทัศน์  อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพลี้ยกระโดดหลังขาวสามารถสร้างความเสียหายแก่นาข้าวตั้งแต่ระยะกล้าถึงระยะแตกกอ ซึ่งในเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมาพบการทำลายของเพลี้ยกระโดดหลังขาวในนาข้าวระยะแตกกอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และศัตรูพืชชนิดนี้ยังอพยพแพร่กระจายเข้าทำลายแปลงนาใกล้เคียงที่ข้าวอยู่ระยะกล้าและระยะแตกกอได้อีกด้วย จึงขอเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้หมั่นสำรวจศัตรูพืชในแปลง โดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดหลังขาว เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าทำลายผลผลิตข้าว ประกอบกับเมื่อเกี่ยวข้าวแล้ว แนะนำให้เกษตรกรวางแผนเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ในช่วงนาปี โดยเลือกปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน เช่น สุพรรณบุรี 60 ชัยนาท 1 สุพรรณบุรี 1 กข31 เป็นต้น และควรปลูกสลับกันอย่างน้อย 2 พันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เพลี้ยกระโดดหลังขาวปรับตัวทำลายข้าวพันธุ์ต้านทานได้รวดเร็ว หรือหากต้องการปลูกข้าวพันธุ์เดียวนั้นแนะนำว่าไม่ควรปลูกติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากศัตรูพืชดังกล่าว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถสังเกตการทำลายของเพลี้ยกระโดดหลังขาวได้จากการหมั่นสำรวจแปลงนา เนื่องจากเพลี้ยกระโดดหลังขาวมีลักษณะคล้ายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่แตกต่างกันในส่วนของจุดดำที่กลางและปลายปีกและมีแถบสีขาวตรงส่วนนอกระหว่างฐานปีกทั้งสองข้าง รวมทั้งมักชอบอาศัยอยู่บริเวณกลางต้นข้าว เหนือระดับที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอยู่ ทั้งนี้ เพลี้ยทั้งสองชนิดดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าวเช่นเดียวกัน แต่ต้นข้าวที่ถูกเพลี้ยกระโดดหลังขาวทำลายจะมีใบสีเหลืองส้ม ไม่แสดงอาการแห้งเป็นสีน้ำตาลเหมือนร่องรอยการทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ดังนั้น เกษตรกรจึงควรใช้วิธีการและเลือกสารป้องกันกำจัดให้เหมาะสมกับศัตรูพืชแต่ละชนิด โดยวิธีการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดหลังขาวสามารถป้องกันได้โดยปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน เช่น สุพรรณบุรี 60 ชัยนาท 1 สุพรรณบุรี 1 กข31 เป็นต้น โดยปลูกสลับฤดูปลูกอย่างน้อย 2 พันธุ์ และอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงดิน มวนเขียวดูดไข่ แมงมุมเขี้ยวยาว แมลงปอบ้าน แมลงปอเข็ม เป็นต้น หากสำรวจแปลงนาแล้วเริ่มพบเพลี้ยกระโดดหลังขาวในนาข้าว ป้องกันโดยใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย อัตรา 250 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นในช่วงเวลาอากาศเย็นหรือความชื้นสัมพัทธ์สูง เพื่อให้มีโอกาสสัมผัสกับตัวแมลงมากที่สุด กรณีพบเพลี้ยกระโดดหลังขาวมากกว่า 1 ตัวต่อต้น ให้ไขน้ำออกจากแปลงนา และควบคุมระดับน้ำในนาข้าว โดยการระบายออกเป็นครั้งคราวแบบเปียกสลับแห้ง แต่หากสถานการณ์รุนแรงและจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง ควรใช้ในอัตราตามฉลากแนะนำเช่น อิมิดาโคลพริด 10 % SL 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น ไม่ใช้สารอะบาเมกติน หรือสารที่มีพิษร้ายแรงต่อแมลงศัตรูธรรมชาติ ก่อให้เกิดพิษต่อสัตว์น้ำและมลพิษต่อสภาพแวดล้อมในนาข้าว

ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO