ทั้งนี้ กทม.ไม่มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดกรณีทุจริตและประพฤติมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา โดยในการจับกุมจึงต้องมีตำรวจจากกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมด้วย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยขั้นตอนการดำเนินการของ ศปท.กทม. เมื่อได้รับข้อมูลเรื่องร้องเรียนแล้วจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ร้องเพื่อตรวจสอบ เตรียมข้อมูล และข้อกฎหมาย รวมทั้งประสานสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. เกี่ยวกับการลงพื้นที่ และเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว ผลเป็นประการใดจะดำเนินมาตรการทางการบริหารงานบุคคล เช่น ย้ายออกนอกพื้นที่ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมทั้งดำเนินการทางวินัยควบคู่ไปด้วย
นอกจากนั้น ศปท.กทม.ยังมีนโยบายในการประสานความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด กทม. ตลอดจนเร่งตรวจสอบเรื่องทุจริตให้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมและได้แถลงข่าวให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: กรุงเทพมหานคร