สำหรับ โครงการ "ชัยนาทโมเดล" เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จ ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาที่ดินสู่ฐานการผลิตที่ยั่งยืน กรมพัฒนาที่ดินจึงต้องมุ่งเน้นกิจกรรมพัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมไปผลิตพืชอื่นที่เหมาะสมแทน เช่น การสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตหญ้าอาหารสัตว์ในพื้นที่ โดยบูรณาการร่วมกับกรมปศุสัตว์ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการปรับเปลี่ยนให้เกษตรกร และเกิดการสร้างรายได้ของเกษตรกรที่ยั่งยืน ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตร ผ่านกิจกรรม/โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการพระราชดำริ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิต การปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม การยกระดับการให้บริการวิเคราะห์ดินและคำแนะนำการจัดการดิน น้ำ พืช และสิ่งปรับปรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน และการจัดทำแผนการใช้ที่ดินระดับตำบล เป็นต้น สำหรับการขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดินจะขับเคลื่อนศูนย์บริการประชาชนภาคการเกษตรผ่านศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินประจำตำบลเพื่อให้บริการประชาชน และการพัฒนาหมอดินอาสา ในด้านการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะมีโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน และโครงการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟู พื้นที่เกษตรกรรมด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และสุดท้ายการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร การทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย BCG / Carbon Credit / ลดเผาตอซัง / สินค้าเกษตรปลอดภัย จะส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) จัดทำฐานข้อมูลติดตามความก้าวหน้าของสินค้าเกษตรปลอดภัยและสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น
ที่มา: กรมพัฒนาที่ดิน