ถือเป็นครั้งแรกในรอบปีที่คะแนนความต้องการช้อปของคนไทยหยุดชะงัก ไม่มีความเคลื่อนไหว เนื่องจากคนไทยทั่วประเทศยังคงจับตาดูกระแสของการเมืองซึ่งยังไม่เห็นทิศทางของเศรษฐกิจที่แน่ชัดนัก ทำให้ขาดความมั่นใจในด้านเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอย หลายคนเริ่มมองหาที่พึ่งทางจิตใจเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายในสถานการณ์นี้ คุณพร้อมพร สุภัทรวณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยการตลาดและวางแผนกลยุทธ์ ได้เล็งเห็นถึงสถานการณ์ของผู้บริโภคดังกล่าวจึงได้เสนอแนะคำแนะนำให้กับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ดังนี้
- จัด Fun Space พื้นที่ให้คนไทยได้หลีกหนีความเครียด
จากความคลุมเครือในสถาการณ์ทางการเมืองของบ้านเรา ส่งผลกระทบให้คนไทยหลายคนเกิดความเครียดสะสม จึงเกิดเป็นไอเดียให้หลายคน ต้องการมองหาพื้นที่ที่สามารถช่วยให้บรรเทาความเครียดได้ โดยถือเป็นโอกาสอันดีที่แบรนด์จะเข้ามาช่วยซัพพอร์ตในจุดนี้ได้ เช่น การจัดอีเว้นท์สนุกๆ ให้คนไทยได้ผ่อนคลายผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การถ่ายรูปโฟโต้บูธ หรือกิจกรรมการทำงาน craft แบบง่ายๆ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้คนไทยได้ผ่อนคลาย และยังสามารถจดจำแบรนด์ในฐานะที่เข้ามาช่วยดูแลผู้คนในสถานการณ์เหล่านี้อีกด้วย
- เติมสุขและเสริมดวง ผ่านการจับจ่ายด้วย "Everyday MU"
เพิ่มความสุขและความจอยให้กับชีวิตประจำวันที่แสนจะเหนื่อยล้าของคนไทยด้วยพลัง มูเตลู ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับทุกคนได้ในทุกที่ทุกเวลา การมูเตลูของคนไทยจะเปลี่ยนโมเม้นในการซื้อของเป็นโอกาสที่จะเสริมดวง เช่น การประยุกต์ใช้สีมงคลในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อผ้า กระเป๋า หรือรองเท้า รวมไปถึงการใช้ศาสตร์ตัวเลขมงคลในการดึงดูดผู้คน โดยการ tie-in เข้าไปในสินค้า แคมเปญ หรือโปรโมชั่นต่าง ๆ ของแบรนด์
จากการสำรวจในครั้งนี้เอง สถาบันวิจัยฮาคูโฮโด อาเซียน ประเทศไทย ได้นำเสนออินไซด์ของคนไทยผ่านผลสำรวจไว้ 3 ข้อหลัก ดังต่อไปนี้
- คะแนนความต้องการใช้จ่ายคงที่ในรอบปี และความสุขยังคงนิ่งเหมือนผลสำรวจในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ภาพรวมของคะแนนความต้องการใช้จ่ายของคนไทยหยุดนิ่งในรอบปี ด้วยปัจจัยหลายอย่างภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และคนไทยหลายคนเริ่มวางแผนระยะยาวในเรื่องของเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ผลสำรวจชี้ว่าความสุขของคนไทยยังคงเท่าเดิมตั้งแต่ผลสำรวจในเดือนเมษายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ยังคงอยู่ที่ 64 คะแนน ไม่เพิ่มขึ้นและลดลงแต่อย่างใด
- คนกรุงเทพฯ วางแผนใช้จ่ายปลายปี ฮีลใจจากสถานการณ์ที่ตึงเครียดและความเหนื่อยล้า
จากสถานการณ์ความตึงเครียดต่างๆ ส่งผลให้คนเริ่มวางแผนในการใช้จ่าย มองการใช้จ่ายในระยะยาวตั้งแต่ตอนนี้ถึงช่วงปลายปี เช่น การจับจ่ายเพื่อเป็นรางวัลให้กับตัวเอง การวางแผนท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศเพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยล้าที่สะสมมาตลอดทั้งปี และบางกลุ่มมีความคาดหวังถึงเงินโบนัสที่จะได้รับในช่วงปลายปี รวมไปถึงการได้ขึ้นเงินเดือนอีกด้วย
- คำถามพิเศษประจำเดือนนี้ เผยมุมมองของคนไทยที่มีต่อคนใช้รถ EV และ Hybrid
"คุณมีภาพลักษณ์อย่างไร ต่อคนที่มีรถ EV และ Hybrid" คำถามพิเศษประจำเดือนนี้ที่ทำมาเพื่อตอบรับกระแสการใช้รถ EV ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคำตอบของคนส่วนใหญ่คือ
- มุมมองที่มีต่อคนขับรถ EV จะเป็นกลุ่มคนที่ชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม มีสไตล์เป็นของตัวเองมากกว่าการมองเรื่องการประหยัดเงิน ด้วยดีไซน์รถที่เน้นกลุ่มคนอายุน้อย และพื้นที่ชาร์จรถ EV ที่มีให้ตามห้างร้านต่างๆ ทำให้ตลาดรถ EV โตขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย
- ในขณะเดียวกัน มุมมองที่มีต่อคนขับรถ Hybrid คือ จะมีภาพลักษณ์ที่เน้นเรื่องการใช้งานเป็นหลัก เช่น การประหยัดเงินในการเติมน้ำมันและการชาร์จแบต หรือฉลาดเลือกในการใช้ระยะยาว ซึ่งอาจเพราะรถ Hybrid อยู่ในตลาดมานานกว่า และผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่อายุมากกว่า จึงส่งผลให้เกิดความแตกต่างในแง่ภาพลักษณ์เมื่อเทียบกับรถ EV
ท้ายของผลสำรวจประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 นี้ สถาบันวิจัยฮาคูโฮโด อาเซียน ประเทศไทย ได้เผยข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องข่าวที่ผู้คนสนใจมากที่สุดในขณะนี้ว่า "ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องของสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ที่ยังคงมีแนวโน้มพลิกผันไปมาตลอดเวลา ทำให้คนไทยทั่วประเทศเกิดความกังวลเนื่องจากความคลุมเครือในหลายๆ ด้าน ถึงแม้จะมีข่าวอื่นเข้ามาในกระแสเพื่อเบนความสนใจ แต่อย่างไรก็ตามคนไทยก็ยังคงไม่ลืมเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง เนื่องจากมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอีกด้วย"
ที่มา: มิดัส พีอาร์