นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ระบุถึงแนวโน้มการพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยหรือคอนโดมิเนียมในปัจจุบันว่า ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมที่สามารถเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้ (Pet Friendly Condominium) มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลการสำรวจของ "LWS" พบว่าในปี 2565 มีโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ทั้งสิ้น 5,663 ยูนิต เพิ่มขึ้น 4,394% จากจำนวน 157 ยูนิต ในปี 2561 สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทยในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในแบบ "pet humanization" หรือที่เรียกว่า พฤติกรรมที่เจ้าของเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนลูก หรือเป็นสมาชิกของครอบครัว จากการคาดการณ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2569
จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้การพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป จากผลการสำรวจของ "LWS" ระหว่างวันที่ 1-20 สิงหาคม 2566 โดยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 180 คน เกี่ยวกับอาคารชุดพักอาศัยที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ พบว่า ผู้ซื้อให้ความสำคัญกับรูปแบบของโครงการและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการใน 6 ประเด็นได้แก่
- โครงการควรมีพื้นที่เดินเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง: ภายในโครงการควรมีพื้นที่เดินเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ที่เพียงพอให้สัตว์เลี้ยงที่อาศัยในโครงการสามารถเดินเล่น หรือเดินออกกำลังกายได้อย่างสะดวก พื้นที่นี้ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยและมีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันอันตรายจากภัยคุกคามจากภายนอก เช่น รั้วกั้นสัตว์ภายนอกเข้ามาทำร้ายสัตว์เลี้ยงภายในโครงการ
- ระบบระบายอากาศ : การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอาจส่งผลให้มีกลิ่นได้ ตัวอาคารเองควรมีระบบระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาภาพอากาศในห้องชุดพักอาศัย และห้องส่วนกลาง
- การจัดการของเสียที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง : การเลี้ยงสัตว์อาจส่งผลให้มีขยะเพิ่มขึ้น โครงการควรมีระบบจัดการสิ่งของเสียที่เหมาะสม เช่น ถังขยะที่มีล็อคให้สัตว์เลี้ยงไม่สามารถเข้าถึงได้ มีรอบการจัดเก็บขยะในห้องพักขยะที่ถี่ขึ้น
- การใช้สารพิษในการกำจัดปลวก/แมลง : การใช้สารเคมีในโครงการควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้สร้างความเสี่ยงต่อสัตว์เลี้ยง แนะนำให้ใช้วิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อต้องการความสะอาดและการดูแลสุขาภิบาลในคอนโด
- การควบคุมเสียง: การควบคุมเสียงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงทำเสียงรบกวนผู้อยู่อาศัยอื่น ๆ เช่น การติดตั้งแผ่นซับเสียงในห้องชุด / พื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น
- การศึกษาผู้อยู่อาศัย: ควรมีการสร้างความเข้าใจและการศึกษาผู้อยู่อาศัยเกี่ยวกับความสำคัญของการเลี้ยงสัตว์และกฎระเบียบเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในอาคารชุด เพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมมือกันในการรักษาความสงบสุขและการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงได้ รวมถึงการบริหารจัดการค่าส่วนกลางสำหรับโครงการที่ให้เลี้ยงสัตว์ได้ จากผลการสำรวจพบว่า 97% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับเงื่อนไข/กฎระเบียบ/ข้อบังคับ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงสัตว์ที่สูงกว่าโครงการที่ไม่ให้เลี้ยงสัตว์ได้
นอกจากรูปแบบ สิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการและกฏกติกาในการอยู่อาศัยที่แตกต่างจากโครงการอาคารชุดทั่วไปแล้ว จากผลการสำรวจของ "LWS" พบว่า ถ้าภายในโครงการสามารถเพิ่มงานบริการที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่มีสัตว์เลี้ยงได้ จะทำให้โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจมากขึ้น โดยการจัดการพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ของโครงการให้มีงานบริการที่ตอบโจทย์กับผู้ซื้อที่มีสัตว์เลี้ยง จากผลการสำรวจพบว่ามี 6 งานบริการที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการของผู้ซื้ออาคารชุดพักอาศัยที่เข้ามาพักอาศัยพร้อมกับสัตว์เลี้ยงได้แก่
- บริการฝากดูแล / พาสัตว์เลี้ยงเดินเล่น : จากการสำรวจของ LWS พบว่า 16% ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสนใจที่จะได้รับบริการฝากดูแล/พาสัตว์เลี้ยงเดินเล่น เนื่องจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องไปทำงานข้างนอก หรือไปธุระที่ไม่สามารถพาสัตว์เลี้ยงไปด้วยได้ และกว่า 30% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการพื้นที่สวนสำหรับสัตว์เลี้ยงในโครงการ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้เดินเล่น และออกกำลังกาย ลดความเครียดจากการอยู่แต่ในห้อง
- บริการทำความสะอาดห้องชุดที่มีสัตว์เลี้ยง : เป็นบริการที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีให้บริการในคอนโดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ โดยอาจมีการให้บริการทำความสะอาดห้อง / ทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น กระบะทรายแมว ซักเบาะรองนอน ฆ่าเชื้อภายในห้องชุด เป็นต้น
- บริการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในห้องชุด : จากผลการสำรวจของ LWS พบว่า 52% จากผู้ตอบแบบสอบถามเลี้ยงแมว ซึ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุด รองลงมาคือสุนัขที่ 29% ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ จะออกแบบเฉพาะสัตว์เลี้ยงโดยตรง เช่น ชั้นสำหรับปีน เสาสำหรับฝนเล็บ ตาข่าย/กระจกกันสัตว์เลี้ยงจากตกระเบียง จะเป็นธุรกิจซึ่งมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันกับคอนโดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้เช่นเดียวกัน
- ร้านขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง : เนื่องจากอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทุกวัน และผู้ตอบแบบสอบถามต้องการความสะดวกสบาย ไม่ต้องออกไปซื้อทุกครั้งเมื่ออาหารหมดลง ถ้าภายในโครงการมีร้านขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงจะสามารถตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อได้มากยิ่งขึ้น
- บริการสปา / อาบน้ำ / แต่งขนสัตว์เลี้ยง : สัตว์เลี้ยงก็ควรได้รับการผ่อนคลายและการดูแล บ่อยครั้งการอาบน้ำสัตว์เลี้ยงเองเป็นเรื่องที่ยากของเจ้าของ บริการสปา / อาบน้ำ / แต่งขนสัตว์เลี้ยง จะเป็นหนึ่งในบริการที่ทำให้ผู้พักอาศัยเองได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งผู้พัฒนาโครงการเองก็ได้ประโยชน์จากบริการนี้เช่นเดียวกัน เช่น ลดกลิ่น ลดการเกิดโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยง
- บริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสัตว์เลี้ยง : คอนโดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ควรมีบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยง เช่น คลีนิคสัตว์ หรือโรงพยาบาลสัตว์ขนาดเล็กในพื้นที่ เนื่องจากบ่อยครั้งที่สถานที่รักษาสัตว์ภายนอกโครงการเปิดให้บริการไม่เป็นเวลา หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็อาจจะทำให้สัตว์เลี้ยงอาจไม่ได้รับบริการที่ทันท่วงที หรือหากภายในโครงการไม่มีคลีนิคสัตว์เลี้ยงอยู่ภายในโครงการ ก็สามารถติดต่อเพื่อสร้างเครือข่ายกับโรงพยาบาลสัตว์ / คลีนิคใกล้เคียงในพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน หรือผู้พัฒนาโครงการอาจจัดบริการเสริมเช่น บริการรถรับ-ส่งพาสัตว์เลี้ยงไปหาหมอ/คลีนิค เป็นต้น
"พฤติกรรมของผู้ซื้อที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องปรับตัวพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อาคารชุดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ เป็นหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะพัฒนาโครงการเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อ" นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
ที่มา: แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์