'สิทธิพงษ์ อรุณรักษ์' ปราชญ์ฯ ต้นแบบสัมมาชีพ

พฤหัส ๑๙ ตุลาคม ๒๐๒๓ ๑๓:๓๘
ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพอีกรายที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในปี 2566 โดยมูลนิธิสัมมาชีพ คือ  "สิทธิพงษ์ อรุณรักษ์" ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์เรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา อ. หลังสวน จ. ชุมพร ผู้นำ "องค์ความรู้" ด้าน "การผลิต ปรับปรุงพันธุ์มังคุดให้ตรงความต้องการของตลาด และพัฒนารูปแบบการจำหน่ายด้วยการประมูล"

แก้ปัญหาผลผลิตและราคามังคุดตกต่ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนมังคุด ได้ในที่สุด

สิทธิพงษ์ คือ ผู้ริเริ่ม รวมกลุ่มผู้ปลูกมังคุดท่ามะพลา ในชื่อ "กลุ่มปรับปรุงมังคุดเพื่อการส่งออกตำบลท่ามะพลา" เพื่อผลิตมังคุดที่มีคุณภาพ ก่อนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนฯ "กลุ่มมังคุดศูนย์เรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา" เมื่อปี 2553

ขณะนี้ ผลผลิตมังคุดของกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) และตราสัญลักษณ์ Q (เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร) ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สะท้อนถึงการผลิตมังคุดที่ได้คุณภาพอย่างแท้จริง

สิทธิพงษ์ยังเป็นผู้ริเริ่มรวมกลุ่มผู้ค้า "ประมูลมังคุด" มาตั้งแต่ปี 2549 เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก จนรู้จักในชื่อ "ท่ามะพลาโมเดล" ทำให้ชาวสวนมังคุดมี "อำนาจการต่อรอง" การจำหน่ายมังคุด กลายเป็นผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ในชื่อ การถอดบทเรียนจากกรมส่งเสริมการเกษตรท่ามะพลาโมเดล แจกจ่ายทั่วประเทศ โดยในปัจจุบันชาวสวนมังคุดใน 14 จังหวัดภาคใต้ (50-60 กลุ่ม) ยังนำท่ามะพลาโมเดล ไปใช้ในการประมูลมังคุด รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออก อย่างเช่น จันทบุรี

ด้วยคุณภาพของมังคุดผสานกับรูปแบบในการจำหน่ายดังกล่าว ทำให้สามารถจำหน่ายผลผลิตมังคุดในราคาสูงกว่าราคาท้องถิ่น เป็นราคาที่เป็นธรรม ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง "สองเท่าตัว" ทำให้สมาชิกเกิดการออมเงิน จนเป็นที่ยอมรับและเป็นตัวอย่างของชุมชนในวงกว้าง

จากจุดเริ่มต้นมีสมาชิก 15 ราย ขณะนี้ วิสาหกิจฯ แห่งนี้ มีสมาชิกราว 100 ราย มีผลผลิตมังคุดปีละกว่า 1,200 ตัน เป็นการประมูลจำหน่ายในประเทศสัดส่วน 40% ที่เหลือเป็นประมูลส่งออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น

"ผมภูมิใจที่ได้รับรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ สะท้อนถึงความตั้งใจ ดิ้นรน ขวนขวาย ที่จะพัฒนาคุณภาพมังคุดมาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2529 เพื่อแก้ไขปัญหามังคุดราคาตกต่ำ  ซึ่งที่ผ่านมาแทบจะไม่มีคนสนใจ ทั้งๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชินีผลไม้

ผมไม่ได้คาดหวังเรื่องรางวัล  เราคือเกษตรกร ซึ่งมีความถนัดในเรื่องนี้อยู่แล้ว มีประสบการณ์ด้านมังคุด 100% แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง และอยากพัฒนาคุณภาพการผลิตและจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ให้ทั่วโลก รู้ถึงคุณภาพของมังคุดจากประเทศไทย ทำให้ชีวิตชาวสวนมังคุดดีขึ้น"  สิทธิพงษ์ เล่า  

องค์ความรู้ที่โดดเด่นของเขา  คือ "การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม" ประกอบด้วย การปลูกพืชที่ใช้ระบบสมัยใหม่ โดยการปลูกเป็นแถวเป็นแนว มีการปลูกพืชผสมผสาน เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านผลผลิตจากสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน มีการใส่ปุ๋ยตามแผนการผลิตพืชตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับสภาพดินและช่วยบำรุงดิน

มีการทดลองเรื่องการให้น้ำเพื่อทดสอบการเกิดเนื้อแก้วยางไหล เป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยเก็บข้อมูลภายในแปลง ประกอบกับการใช้เครื่องมือต่างๆ ติดตั้งที่แปลงเพื่อเก็บค่าไปวิเคราะห์และคำนวณข้อมูล

ผลการวิจัยเรื่องเนื้อแก้วยางไหลค้นพบว่า เนื้อแก้วยางไหลเกิดจากเส้นใยอาหารของมังคุดขาดกัน ทำให้ยางมังคุดวิ่งย้อนกลับเข้าเนื้อ จึงต้องแก้ไขโดยการให้ธาตุอาหารเสริม คือ แคลเซียมโบรอน เพื่อเชื่อมต่อเส้นใยอาหารไม่ให้ขาดจากกัน

นอกจากนี้ ยังมีการปลูกต้นมังคุดเสียบยอด เพื่อแก้ไขปัญหาระยะเวลาในการให้ผลผลิต และความสะดวกในการบริหารจัดการ โดยมังคุดจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 2 ปี ขณะที่มังคุดซึ่งมาจากการเพาะเมล็ด จะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 5-6 ปี ในการให้ผลผลิต

มังคุดเสียบยอดยอด จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการผลิตมังคุดที่มีลักษณะ ผลใหญ่ เปลือกผลบาง เมล็ดลีบ เนื้อเยอะ และมีสีขาว

เขายังเป็นผู้ "ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการจัดการการผลิตมังคุดคุณภาพ" โดยใช้วิธีผลิตมังคุดอย่างเป็นระบบ เริ่มด้วยการทำมังคุดผิวมันเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ที่ผู้บริโภคซึ่งมีกำลังซื้อและลูกค้าต่างประเทศจะต้องการมังคุดคุณภาพ จะดูจากลักษณะภายนอกที่ดูดีเป็นอันดับแรก

การทำมังคุดผิวมัน จึงเป็นกลยุทธ์ให้ได้มูลค่าเพิ่ม โดยต้องทำความสะอาดผล/คัดเกรด แยกผลผลิตมังคุดตามคุณภาพ

องค์ความรู้ดังกล่าวยังเผยแพร่เป็นรูปธรรม และกลายเป็นการพัฒนานวัตกรรมสังคม ในรูปแบบของการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร  การจัดทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ การสร้างฐานเรียนรู้ประจำศูนย์ 6 ฐาน การทำบ่อแก๊สชีวภาพจากมูลสุกร การให้สมาชิกในกลุ่มเข้าร่วมโครงการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP การจัดทำเตาเผาถ่านทำน้ำส้มควันไม้จากการเผาถ่านไม้มังคุด โดยการแต่งกิ่งมังคุดแล้วนำมาเผาถ่าน  

ผลงานของสิทธิพงษ์ทำให้พื้นที่ที่นี่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของอำเภอหลังสวน ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องการผลิตมังคุดสู่พื้นที่ตำบลอื่นๆ และจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการความรู้เรื่องการผลิตมังคุด

ปัจจุบัน เขายังได้เชื่อมโยงเครือข่ายจำนวน 23 กลุ่ม และกลุ่มมังคุดต่างๆ ภายในประเทศ ส่งผลให้มีการจัดการผลผลิตมังคุดอย่างยั่งยืน และมีการรวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์เครือข่ายภายในอำเภอทั้งหมด 10 แห่ง ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทั้งในด้านปศุสัตว์ ด้านการแปรรูป และด้านอื่นๆ มีการกระจายศูนย์เครือข่ายในทุกๆ ตำบลตามความรู้ความสามารถในการ ถ่ายทอดของแต่ละศูนย์ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ สามารถเข้ามานำความรู้ไปต่อยอด ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

เขายังบอกด้วยว่า นวัตกรรมสังคมเหล่านี้ มีการทดลองร่วมกับองค์กรภายนอก เช่น สถาบันหรือวิทยาลัย และนำผลงานออกเผยแพร่อย่างถูกต้อง เกษตรกรสามารถทำตามแบบและขั้นตอนอย่างมีเหตุผล ไม่เกิดความผิดพลาดในการนำไปใช้งาน

สิทธิพงษ์ ยังระบุถึงความคาดหวังในการพัฒนาการจำหน่ายมังคุดว่า ต้องการจะรวมกลุ่มเกษตรกร จัดตั้งเป็นสหกรณ์ หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งออกมังคุดโดยตรงกับผู้ซื้อในต่างประเทศ ไม่ผ่าน "พ่อค้าคนกลาง" ที่ประมูลไปจำหน่ายต่อ เชื่อว่า หากทำเช่นนั้นได้จะทำให้ชาวสวนมังคุดได้ราคาดีขึ้นไปอีก

ทั้งยังสอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล การค้าออนไลน์

"ตอนนี้เรา (ชาวสวน) กำลังศึกษาตลาด สอบถามผู้ประกอบการชาวจีน และเกาหลี ซึ่งมาดูงานกับเรา โลกมันแคบด้วยการค้าออนไลน์แล้ว จึงเห็นว่าน่าจะมีโอกาสส่งออกได้เอง ก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากหน่วยงานภาครัฐเกือบทุกกรม-กองที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเรื่องการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ เข้ามาดูแลเรื่องคุณภาพดิน เรื่องการลดต้นทุนการผลิต" สิทธิพงษ์ เผย

ที่ผ่านมาปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพในปี 2566 ผู้นี้ ยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณในระดับประเทศมากมาย ได้แก่ รางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ปี 2564 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ระดับประเทศ การประกวดเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน ของกรมส่งเสริมการเกษตร, รางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAPดีเด่น) ปี 2559 ของกรมวิชาการเกษตร, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่น ระดับประเทศ ปี 2561 ของกรมส่งเสริมการเกษตร และรางวัลชมเชย การประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2561

ทั้งหมดนี้ คือความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพและระบบการจำหน่ายมังคุดในฐานะลูกหลานชาวสวนมังคุด สู่การค้นคว้าหาองค์ความรู้มาพัฒนามังคุดไทย เพื่อทำให้มังคุดไทยโดดเด่นด้วยคุณภาพ ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

สมเป็น "ราชินีผลไม้ไทย" !!!

และสร้างความอยู่ดีมีสุข ตามแนวทางสัมมาชีพให้ชาวสวนมังคุดอย่างแท้จริง

ที่มา: มูลนิธิสัมมาชีพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๔๖ MEDEZE ต้อนรับสถาบันนักลงทุน CSI เยี่ยมชมบริษัท
๑๓:๔๙ บริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด รับประกาศนียบัตร เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประจำปี 2567
๑๓:๔๓ AJA จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ผถห. โหวตผ่านทุกวาระ พร้อมเปิดตัวกลยุทธ์ใหม่ รีแบรนด์ AJ EV BIKE สู่
๑๓:๕๑ SCAP ตั้งเป้าระดมทุนโดยการขายหุ้นกู้1,600 ล้านบาท ชูดอกเบี้ยสูงสุด 5.05% ต่อปี ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB เปิดขายวันที่ 31 ม.ค. และ 3-4 ก.พ.
๑๒:๐๐ สกสว. - สวทช. รุกปั้นกลุ่ม ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม หนุนระบบบุคลากร
๑๒:๑๕ HMD ประเทศไทย เปิดแผนธุรกิจปี 68 ย้ำมุ่งพัฒนาสมาร์ทโฟนคุณภาพ ด้วยปรัชญา ใช้งานปลอดภัย ไว้ใจได้ ด้วยราคาเข้าถึงง่าย
๑๑:๑๒ VEHHA Hua Hin คว้า Fitwel มาตรฐานคอนโดระดับโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตระยะยาว ต่อยอดจุดแข็งสู่ที่สุดของความครบครัน
๑๑:๐๐ ttb reserve มอบประสบการณ์ใหม่เหนือระดับเพื่อลูกค้าคนสำคัญ
๑๑:๓๙ ศิลปะจักสานหลินซู ภูมิปัญญาโบราณสู่ตลาดโลก
๑๑:๐๐ ฉลองครบ 10 ปี HOUSE OF LITTLEBUNNY กระเป๋าแบรนด์ไทย จากกระต่ายน้อยตัวเล็ก เติบโตสู่ตลาดอินเตอร์ จัดแฟชั่นโชว์ยิ่งใหญ่