ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือน ที่นางพิสมัย วรพงษ์ ได้เริ่มทำ "โคก หนอง นา" เนื่องจากนายวีระพงษ์ ทองอ่วม เจ้าของแปลงตัวจริง ได้ย้ายถิ่นฐานไปทำการเกษตรที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และได้มอบอำนาจให้ นางพิสมัย เป็นผู้ดำเนินการ โดยมี นายปัณณธร ล่ามแขก นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน พัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา และ ดร.ภคิน ศรีวงศ์ พัฒนาการอำเภอราชสาส์น ร่วมเป็นพยาน
นอกจากนั้น ยังได้รับความร่วมมือจาก นายทศพล ศรีบัวเอี่ยม และนางอภิญญา อุชุวัฒน์ ผู้เข้ารับการอบรมโครงการพัฒนาและเสริมสร้างบุคลากรกระทรวงมหาดไทยเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้บริหารที่มีสมรรถนะสูง (MOI SMART Agent for CAST) และทีมงานเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอราชสาส์น โดยนางสาวนรินรัตน์ ถิ่นขาม และนางสาวปิรัญญา นาวาทอง นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ ตลอดจนภาคีเครือข่าย "โคก หนอง นา" จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ร่วมกันสนับสนุนทั้งทุนส่วนตัว แรงงาน วัสดุอุปกรณ์ พืชพันธุ์ และสัตว์เลี้ยง ให้กับนางพิสมัย อย่างต่อเนื่อง
นางพิสมัย วรพงษ์ เล่าว่า "สำนักงานพัฒนาชุมชน ได้สนับสนุนและประสานงานให้ตนเข้ามาทำกินในบริเวณแปลง "โคก หนอง นา" พื้นที่ 15 ไร่ แห่งนี้ โดยระยะแรก ได้ทำการปลูกกล้วย ข่า ตะไคร้ มะละกอ และพืชผักสวนครัวอื่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงไม้ผล เช่น มะขาม น้อยหน่า มะม่วง มะพร้าว และพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์เป็ดและไก่บ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่าย "โคก หนอง นา" จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ นางสมพงษ์ ยี่รัมย์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโคกผาสุข หมู่ที่ 12 ตำบลทุ่งพระยา และนางสุภัสสร ลครโพน เจ้าของแปลง "โคก หนอง นา" บ้านแสงทอง หมู่ที่ 14 ตำบลทุ่งพระยา อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากนั้น ตนยังได้ทำกระท่อมที่พัก และคอกเป็ด คอกไก่ ด้วยตนเอง บนพื้นที่ "โคก" และเลี้ยงปลาในบริเวณบ่อน้ำหรือ "หนอง" และคลองไส้ไก่ รวมถึงทำ "นา" ในพื้นที่ลุ่ม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย โดยคาดว่าราวๆ เดือนพฤศจิกายน 2566 ก็จะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นและเก็บเกี่ยวผลผลิตไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือก็จะนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัว"
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้น้อมนำเอาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิต และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวปฎิบัติในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน เนื่องในโอกาสวันสำคัญ 13 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแห่งการสวรรคตครบ 7 ปี หรือเรียกว่า "สัตตมวรรษ" ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า "วันนวมินทรมหาราช" ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหรเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 จะล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน แต่พสกนิกรทุกหมู่เหล่ายังล้วนคำนึงถึงด้วยความสำนึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่รู้ลืมเลือน เพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคตเป็นวันแห่งการร่วมรำลึกและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน โดยเฉพาะการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี "สติ ปัญญา และความเพียร" ซึ่งจะนำไปสู่ "ความสุข" ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
นายวรนัฐ ติรประเสริฐสิน พัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอราชสาส์น รวมถึงเครือข่าย "โคก หนอง นา" จังหวัดฉะเชิงเทราทุกท่าน ที่ได้สนับสนุนให้มีกิจกรรมซึ่งถือเป็นการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดั่งพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด เจริญรอยตามแนวทางของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้คนที่เคยต้องโทษจำคุกถึง 8 ปี อย่างตน มีโอกาสได้กลับตัวกลับใจ พลิกฟื้นชีวิต ปรับปรุงพื้นที่จากดินเปรี้ยว และเพาะปลูกลำบาก ให้กลับมามีพื้นที่ทำกิน มีอาชีพ มีความมั่นคงทางอาหาร และมีความสุขตามอัตภาพ เกิดมิตรภาพและเครือข่ายมากมาย และสามารถพึ่งตนเองได้ต่อไป"
ที่มา: กรมการพัฒนาชุมชน