กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงกรณีที่สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ยื่นหนังสือคัดค้านการเปิดรับจำนำกุ้งขาวของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตราคากุ้งตกต่ำว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น และเป็นการแสดงความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของสมาคมแช่เยือกแข็งอย่างที่สุด มุ่งแต่จะซื้อกุ้งราคาถูก โดยไม่สนใจว่าเกษตรกรรายย่อยกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์จะช่วยเหลือให้มีการจำนำกุ้ง นับเป็นหนทางหนึ่งที่จะบรรเทาปัญหานี้ ซี่งผู้เลี้ยงกุ้งจะทำหนังสือสนับสนุนแนวทางการรับจำนำกุ้งและขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ต่อไป
“ในอดีตที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง แทบจะไม่เคยร้องขออะไรจากภาครัฐ แต่ครั้งนี้เป็นวิกฤตในรอบ 20 ปี ซึ่งหนักมาก ผู้เลี้ยงรายย่อยกำลังจะตายกันหมด จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องออกมาช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง และ “โครงการจำนำกุ้ง” 10,000 ตัน ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน ก็เป็นแนวทางที่รัฐนำออกมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับจำนำได้ภายในเดือน ก.ค. นี้
สมาคมผู้ส่งออกจ้องที่จะเอาเปรียบ จ้องที่จะกดขี่เกษตรกร เพราะยิ่งราคากุ้งยิ่งถูกก็จะยิ่งดีสำหรับผู้ส่งออก การออกมาคัดค้านของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง ไม่ให้กระทรวงพาณิชย์รับจำนำกุ้ง เป็นการตอกย้ำภาพให้ชัดเจนว่า นายกสมาคมนี้เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงพี่น้องเกษตรกรเลย ผมเห็นเวลากุ้งราคาถูกมากๆก็ไม่ช่วยกันซื้อ พอโครงการนี้จะออกมาช่วยเกษตรกรให้ราคากุ้งดีขึ้น ก็คัดค้าน หวังจะซื้อแต่ของถูก กำไรมากๆ แบบนี้เรียกว่า ไม่คำนึงถึงความอยู่รอดของพี่น้องเกษตรกร อยู่คลัสเตอร์เดียวกันก็ต้องช่วยกัน เห็นใจเกื้อกูลกัน จึงจะดีกับทุกฝ่าย และผมเชื่อว่า ไม่มีใครมาหาประโยชน์กับโครงการจำนำกุ้ง 10,000 ตันตรงนี้หรอกครับ”
ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ผู้เลี้ยงกุ้งเข้าใจดีที่ผู้ส่งออกกำลังเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาท แต่จากข้อมูลการส่งออกกุ้งของไทย 5 เดือนแรกปี 2550 นี้ ยังคงเติบโต คือส่งออกได้ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 (115,422 ตัน) มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 (27,330 ล้านบาท) ดังนั้น ปัญหาของผู้ส่งออกจึงน่าจะยังไม่เลวร้ายเหมือนปัญหาของผู้เลี้ยง
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ
ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี
โทร. 081-9566611
- พ.ย. ๒๕๖๗ 'อลงกรณ์’ ห่วงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัส COVID-19 เร่งประมงสรุปมาตรการช่วยเหลือภายในสัปดาห์นี้ ก่อนเสนอ รมว.กษ.เห็นชอบ
- พ.ย. ๒๕๖๗ กรมประมงร่วมเยือนกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
- พ.ย. ๒๕๖๗ กรมประมง เข้าพบ อธิบดีกรมประมง เพื่อหารือแนวทางการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนเพื่อแปรรูปส่งออก