- ปัจจัยเสี่ยง
- ประวัติมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ในญาติใกล้ชิด ได้แก่ แม่ พี่สาว หรือน้องสาว
- เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
- มีประวัติยีนผิดปกติ (Gene mutation) ได้แก่ ยีน BRCA1 และ BRCA2
- ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีคนแรกขณะอายุมากกว่า 30 ปี
- ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็ว (ก่อนอายุ 12 ปี) และหมดประจำเดือนช้า (หลังอายุ 55 ปี) หรือใช้ยาฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี
- เคยฉายแสงบริเวณทรวงอก
- ความผิดปกติที่ควรรีบพบแพทย์
- คลำได้ก้อนบริเวณเต้านมหรือรักแร้
- หัวนุ่มบุ่มหรือมีแผล ตกสะเก็ด
- ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น บุ๋มลง หนา แดงร้อน หรือเปลี่ยนสี
- เต้านมมีขนาดหรือรูปทรงเปลี่ยนแปลง
- มีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหัวนม
- มีแผลที่หายยากบริเวณเต้านมและหัวนม
ในความเป็นจริงแล้วกว่าจะพบความผิดปกติดังกล่าว ก้อนมักจะมีขนาดใหญ่หรือลุกลาม ทำให้การรักษาล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่มีขนาดเล็กมาก หรือยังไม่แสดงอาการ
- แนวทางการตรวจเต้านม
- ตรวจเต้านมด้วยตนเอง เดือนละ 1 ครั้ง เมื่ออายุ> 20 ปี
- ตรวจเต้านมโดยแพทย์ ทุก 3 ปี ตั้งแต่อายุ 20 ปี เป็นต้นไป หลังจากอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี
- ควรทำแมมโมแกรม และ/หรือ อัลตราซาวน์ โดยเริ่มตรวจที่อายุ 35- 40 ปี และตรวจเป็นประจำทุกปี หลังจากอายุ 40 ปี เป็นต้นไป
- หากมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มทำการตรวจเร็วกว่าอายุที่ตรวจพบในญาติ 5 ปี
- วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
- ตรวจเป็นประจำทุกเดือน โดยตรวจหลังประจำเดือนมา 7-10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน และตรวจในช่วงเดียวกันของทุกเดือน เนื่องจากเวลาดังกล่าวเต้านมมีอาการคัดตึงน้อยลง โอกาสผิดพลาดจึงลดลงตามไปด้วย
- ยืนหน้ากระจก เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงเต้านมทั้ง 2 ข้าง ทั้ง ขนาด รูปร่าง หัวนม ลักษณะผิวหนัง
- ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วหมุนตัวช้า ๆ เพื่อดูด้านข้าง
- ใช้มือเท้าเอวและโน้มตัวลงด้านหน้า
- ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบา ๆ ดูว่ามีน้ำ เลือด หรือหนองไหลออกมาหรือไม่
- เริ่มคลำเต้านมในท่ายืน โดยใช้มือซ้ายตรวจเต้านมขวา ใช้นิ้ว 3 นิ้ว ได้แก่นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง ค่อย ๆ กดลงบนผิวหนังให้ทั่วเต้านมไปจนถึงรักแร้ หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลำอีกข้างแบบเดียวกัน
- การตรวจเต้านม
- แมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายเอกเรย์ เริ่มทำที่อายุ 35-40 ปี ในรายที่ไม่มีอาการ และทุกปีเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป ใช้ตรวจหาก้อนขนาดเล็ก หินปูน การดึงรั้งของเต้านม
- อัลตราซาวน์ เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ตรวจได้ในทุกช่วงอายุ สามารถตรวจดูก้อน ถุงน้ำ ท่อน้ำนม และต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจะตรวจควบคู่กับแมมโมแกรมในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 40 ปี แต่ไม่สามารถทดแทนการตรวจแมมโมแกรมได้เนื่องจากไม่สามารถดูหินปูนได้
- MRI ทำในรายที่มีความเสี่ยงสูง เต้านมหนาแน่นมาก หรือตรวจพบความผิดปกติจากแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์มาก่อน
- การเจาะชิ้นเนื้อ เมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติของเต้านม แพทย์จะมีการพิจารณาส่งตรวจทางพยาธิวิทยา โดยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อผ่านเครื่องมือระบุตำแหน่ง ได้แก่ เครื่องอัลตราซาวน์ หรือแมมโมแกรม เพื่อเจาะได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ
ข้อดีของการตรวจด้วยแมมโมแกรม 3 มิติ
- คุณภาพสูง คมชัดกว่า
เพิ่มความแม่นยำ และความละเอียดสูง คมชัด ทำให้สามารถระบุตำแหน่งที่มีความผิดปกติของเต้านมได้อย่างชัดเจน และมีความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยมากกว่า
- เจ็บน้อยกว่า
แผ่นกดเต้านม ที่โค้งเว้าตามลักษณะของเต้านม จึงช่วยลดแรงกดทับบีบกดที่เต้านมทำให้รู้สึกสบายขึ้นและเจ็บน้อยลง ระยะเวลาในการบีบกดไม่ถึง 1 นาที ทั้งนี้ต้องขึ้นกับขนาดและความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมในแต่ละคนด้วย
- เร็วกว่า
เมื่อไม่มีการถ่ายซ้ำ ทำให้ระยะเวลาการตรวจลดลง และลดจำนวนครั้งในการรับปริมาณรังสีทำให้ผู้รับบริการ ได้รับปริมาณรังสีที่ไม่มากเกินความจำเป็น
- ตรวจเจอได้เร็วกว่า
ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้มากขึ้นและขนาดเล็กลง ทำให้แพทย์สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จึงมีโอกาสรักษาหายขาดและรอดชีวิตได้สูงขึ้น
- ความปลอดภัย
การทำแมมโมแกรมมีการใช้รังสีเอกซเรย์ก็จริง แต่ปริมาณรังสีที่ได้รับเมื่อทำแมมโมแกรมในแต่ละครั้งนั้นมีปริมาณน้อยมาก ๆ (ปริมาณรังสีที่ได้รับในการทำแมมโมแกรมเฉลี่ยประมาณ 0.4 milliSeverts โดยถ้าเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น ปริมาณนี้เทียบเท่ากับรังสีที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อรอบตัวในชีวิตประจำวันเราประมาณ 7 สัปดาห์) และมีมาตรฐานการควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวล เรื่องการก่อให้เกิดมะเร็งจากการตรวจ
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ
- ไม่ควรทาโลชั่น สารระงับกลิ่นกาย หรือแป้งฝุ่นที่บริเวณหน้าอกและใต้รักแร้ เพราะจะมีผลต่อภาพเอกซเรย์
- ไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหาร
- เวลาที่เหมาะสมในการตรวจ คือช่วงหลังจากหมดประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่บวมมาก ทำให้ไม่เจ็บ และเป็นช่วงที่สามารถพบความผิดปกติได้ง่าย
- กรณีที่เปลี่ยนสถานบริการตรวจ ควรนำฟิล์มหรือผลการตรวจมาใช้ในการเปรียบเทียบด้วย
การแปลผลการตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวน์
เป็นการแผลผลความเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งเต้านม โดยแปลเป็น BI-RADS 1-6 เพื่อง่ายต่อการติดตามและดูแลผู้ป่วยแต่ละกลุ่มของแพทย์ ไม่ใช่ระยะโรค
1 หมายถึง ไม่พบสิ่งผิดปกติเลย ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมติดตามทุกปี
2 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ แต่เสี่ยงน้อยที่จะเป็นมะเร็งเต้านมควรตรวจติดตามทุกปี
3 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า 2% ที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ควรตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดทุก 6 เดือน
4 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความน่าสงสัย เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้ 3-95% ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยชิ้นเนื้อเพิ่มเติม
5 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมค่อนข้างสูง ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยชิ้นเนื้อเพิ่มเติม
6 หมายถึง ได้รับการวินิจฉัยชิ้นเนื้อแล้วว่าเป็นมะเร็ง
"การป้องกันที่ดีที่สุด คือการตรวจค้นพบและรักษาให้เร็วที่สุด"
ที่มา: โรงพยาบาลนวเวช