การคิดค้นของเขา นอกจากจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการสิ่งทอ นำสู่การตื่นตัวย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ การช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะลดสารเคมีในการย้อม ลดน้ำเสีย ช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมการปลูกต้นไม้ที่ให้สีย้อม ทั้งยังเป็นการประยุกต์ภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์วัตถุดิบจากพืชและของเหลือใช้ภาคเกษตร
"ก่อคเณศ" ยังมีส่วนเข้าไปฟื้นอัตลักษณ์ชุมชนด้านการทอผ้า การฟื้นฟูศิลปะลวดลายต่างๆ ขณะเดียวกันก็พัฒนาหัตถกรรมชุมชนด้วยศิลปะร่วมสมัย
เป็นแนวทางที่สอดคล้องหลักการสัมมาชีพ ด้านอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ นำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างศานติสุขในสังคม
"ผมดีใจและภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะเป็นรางวัลที่คัดสรรคนเก่งจากทั่วประเทศ และตัวเองมีโอกาสเป็นหนึ่งในสี่ท่านที่ได้รับการคัดสรรเป็นปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจกับความทุ่มเทแรงกาย แรงใจไปกับการทำงานเพื่อชุมชน พอได้รางวัลนี้ ยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องทำให้ดีมากกว่าเดิมอีก" เจ้าตัวเผย
นวัตกรรมที่โดดเด่นของ "ก่อคเณศ" ผู้ร่วมก่อตั้ง ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม และปราชญ์นวัตกรรมสีย้อมธรรมชาติ จากกรมหม่อนไหม อาทิ
"นวัตกรรมการจัดการเรื่องครามธรรมชาติ" จากการนำต้นครามมาทำสีย้อมธรรมชาติและคิดค้นเทคนิคการก่อหม้อคราม (การเตรียมเนื้อครามให้พร้อมที่จะนำผ้าหรือด้ายมาย้อม) ร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรมสีย้อมธรรมชาติ ยังทำให้ได้สีย้อมมีลักษณะเฉพาะตามทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่
"เราใช้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้การสร้างกระบวนการจัดการวัตถุดิบเพื่อนวัตกรรมชุมชน เข้าไปให้ความรู้การทำสีย้อมจากธรรมชาติกับชุมชนในหลายจังหวัด
กรณีของคราม ทำให้ชุมชนหันมาปลูกต้นคราม แทนการซื้อครามเพื่อลดต้นทุน และต้นครามเป็นพืชตระกูลถั่วคล้ายกับต้นปอเทือง จึงเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เราให้แนวคิดกับภาครัฐ เอกชน ขยายผลสู่การปลูกครามแปลงใหญ่ในกว่า 20 จังหวัด เกิดรายได้ เกิดการจ้างงานในชุมชน และเมื่อเราเข้าไปให้ความรู้ชาวบ้านเรื่องการย้อมคราม ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่เนื้อคราม แต่ยังได้เห็นคนกลับมาทอผ้า คืนอัตลักษณ์กลับมาในหลายชุมชน"
นวัตกรรมโดดเด่นถัดมา คือ "การนำฟางข้าวจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ทั่วไปมาทำเป็นสีย้อมธรรมชาติ" โดยสามารถพัฒนาเป็นสีได้มากถึง 64 เฉดสี ถือเป็นการยกระดับฟางข้าวซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้กลับมามีคุณค่า ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเผาฟางเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 และทำให้ชุมชนกลายเป็นผู้ผลิตสีจากเศษวัสดุทางเกษตร
นวัตกรรมดังกล่าวถือว่ามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนแนวทาง BCG (Bio - Circular - Green Economy) และการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างเป็นรูปธรรม
"เมื่อปี 2563-2564 ผมได้ไปร่วมพัฒนาการทำสีย้อมจากฟางข้าว กับโครงการหน่วยงานขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา องค์ความรู้ที่ได้ นอกจากจะใช้ฟางไปทำสีย้อมเส้นใย ย้อมไหม และย้อมฝ้ายได้แล้ว ยังนำไปทำเป็นสีสำหรับสกรีนได้ด้วย
ปี 2565 พบว่ามีแบรนด์สินค้าโอท็อปหลายสิบรายหันมาผลิตผ้าย้อมสีฟางข้าวเพิ่มขึ้น และตั้งแต่ปี 2564-ปัจจุบัน ได้เข้าไปให้ความรู้ด้านนี้กับกลุ่มต่างๆ 200 กว่ากลุ่ม ทั้งที่เป็นกลุ่มชุมชนและสถาบันการศึกษา ทำให้ความรู้นี้กระจายออกไปกว้างขวางขึ้น"
อีกนวัตกรรมสีย้อมจากธรรมชาติที่ก่อคเณศพัฒนา คือ "การทำสีย้อมธรรมชาติจากดินทั่วประเทศ" โดยเขาบอกว่า สามารถพัฒนาได้มากกว่า 600 เฉดสี
ที่น่าสนใจ คือ ไม่เฉพาะดินดีเท่านั้นที่นำมาทำสีย้อมธรรมชาติ "ดินเสื่อมสภาพ" ก็สามารถนำมาปรับปรุงเพื่อทำสีย้อมได้ และนำไปใช้ได้ทั้งการย้อมผ้า ย้อมเส้นไหม ย้อมเสื่อกก ทำสีสกรีน แม้แต่การทำสีสำหรับย้อมผม ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากดินได้ 100%
เมื่อปี 2560 ผมมีโอกาสถวายงานกรมสมเด็จพระเทพฯ เรื่อง สีจากแร่และดิน เพื่อปรับสมดุลศักยภาพของผ้าทออีสาน จากนั้นก็พัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา จนถ่ายทอดความรู้ไปแล้วไม่น้อยกว่า 120 กลุ่ม และในปี 2567 จะมีการถ่ายทอดความรู้สู่เทศบาลต่างๆ ราว 40 กลุ่ม "ก่อคเณศ" เผย
เรียกว่า ใบไม้ เปลือกไม้ สมุนไพร ดิน โคลน หญ้าแฝก ฯลฯ กระทั่งน้ำที่ผ่านการย้อมยังถูก "ก่อคเณศ" นำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ สร้างเฉดสีใหม่ๆ
จากประสบการณ์ทำงานชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมากว่า 24 ปี เป็นทั้งอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม นักวิจัยชุมชนด้านพันธุ์ไม้ในป่าให้สีของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ก่อนจะมาเปิดร้านสอนศิลปะ (วาดรูป ออกแบบผลิตภัณฑ์ ย้อมผ้า) ที่ตัวเมืองอุดรธานี ขยับสู่การเป็นนวัตกรชุมชน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ในจ.อุดรธานี เพื่อต้องการขยายผลการทำงานเพื่อชุมชนให้มากขึ้น
ปัจจุบันเขายังเป็นนักคิด นักออกแบบ นักวิจัย/ที่ปรึกษาและนักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านนวัตกรรมสิ่งทอ
ประสบการณ์เหล่านี้เป็นการหลอมรวมทั้ง "องค์ความรู้" ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ด้านนวัตกรรมสีย้อมธรรมชาติ และเมื่อนำมาผสานกับความรู้เดิมด้านศิลปะ ที่เขาจบการศึกษา สาขา จิตรกรรมประติมากรรมภาพพิมพ์ จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแรงบันดาลใจจากคนในครอบครัว คือ คุณยาย ซึ่งเป็นชาวนครพนม ในการฟื้นอัตลักษณ์ชุมชน ด้วยการย้อมผ้าจากสีย้อมธรรมชาติ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่การทำงานยกระดับหัตถกรรมชุมชน ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
"ยายบอกผมว่า ยิ่งย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติมากเท่าไหร่ เราจะได้เห็นต้นไม้ที่เราไม่เคยเห็นกลับมาปลูกอีก ทำให้ทุกครั้งที่ผมสอนชาวบ้านย้อมสีธรรมชาติ ก็จะบอกแม่ๆ ป้าๆ แบบนี้"
"ก่อคเณศ" ยังบอกด้วยว่า สีย้อมจากธรรมชาติยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการจัดการน้ำทิ้งจากการสีย้อมเคมี ซึ่งข้อมูลของกรมพัฒนาชุมชน เมื่อปี 2560 พบว่า ผู้ประกอบการโอท็อปด้านสิ่งทอและงานทอผ้ากว่า 4 หมื่นกลุ่มทั่วประเทศ มีเพียง 0.4% ที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ นี่คือปัญหาที่เห็น
ขณะนี้จึงได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการสนับสนุนให้ความรู้การใช้สีย้อมธรรมชาติจากพืช วัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งจนถึงปัจจุบันได้กระจายความรู้ให้กับชุมชนไปแล้วกว่า 1,800 กลุ่มทุกภาคของประเทศ
อาทิ จ.ศรีสะเกษ เข้าไปให้ความรู้การนำใบ/ต้นลำดวนซึ่งเป็นต้นไม้ประจำถิ่น และการนำดินภูเขาไฟมาทำเป็นสีย้อมธรรมชาติ การนำทุเรียนไปทำน้ำด่างสำหรับก่อหม้อครามและผสมสีอื่นๆ จากเปลือกทุเรียน
จ.บุรีรัมย์ ร่วมกับภาคเอกชนให้ความรู้ในการปลูกครามและเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สีย้อมเคมีมาใช้สีย้อมธรรมชาติ
จ.อุดรธานี ให้แนวทางกับกรมพัฒนาชุมชนและพาณิชย์จังหวัด ในการนำสีธรรมชาติไปใช้ และเขียนหลักสูตรให้กรมพัฒนาชุมชน เรื่องการจัดการไม้ให้สี เพื่อนำไปต่อยอดกระบวนการจัดการโครงการโคก หนอง นา ในจ.อุดรธานี
ส่วน จ.สุรินทร์ จะร่วมกับมูลนิธิขวัญชุมชน ไปให้ความรู้การย้อมสีฟางข้าวและสกัดสีฟางข้าวจากทุ่งกุลาร้องไห้
"ในภาคอีสานส่วนใหญ่ ไม่มีโรงย้อมไม้ให้สี หรือการนำของเหลือทางการเกษตรมาย้อมผ้า ผมได้เข้าไปมีส่วนกับภาครัฐในพื้นที่ให้แนวคิด ส่งเสริมให้มีโรงย้อมผ้าจากสีธรรมชาติให้เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ อย่างน้อย 8 แห่ง ในภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด เพื่อทำให้เกิดเครือข่ายของกรมพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนการไม่ใช้สีเคมีในการย้อม ลดมลภาวะพิษในชุมชน"
ทั้งหมดนี้ คือการถ่ายทอดนวัตกรรมสีย้อมธรรมชาติของ "ก่อคเณศ" สู่การพัฒนาชุมชน คืนอัตลักษณ์ท้องถิ่น วิถีทอผ้า ไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
กระจายความรู้ออกไปสู่ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ อย่างไม่สิ้นสุด
ที่มา: มูลนิธิสัมมาชีพ