นายวรพจน์ เปิดเผยต่อไปว่า บริษัทขอขอบคุณนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ไว้วางใจและเชื่อมั่นในหุ้นกู้และการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัททำให้ได้รับความสนใจจนยอดจองเกินวงเงินเสนอขาย รวมทั้งขอบคุณผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ โดยบริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปชำระคืนเงินกู้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และลดต้นทุนทางการเงิน เพื่อให้สถานะทางการเงินของ XPCL มั่นคงรวมถึงนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินลงทุนของบริษัทฯ เพื่อนำไปขยายผลการดำเนินงานตามกรอบวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มุ่งสู่ "พลังงานสะอาดสู่สังคมคาร์บอนต่ำ" ซึ่งสอดรับกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สำคัญของภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป
การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ของ XPCL มีนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ให้ความสนใจจองหุ้นกู้ดังกล่าว รวมจำนวน 3,500 ล้านบาท โดยเป็นยอดจองในวงเงินที่เปิดจองจำนวน 2,000 ล้านบาท และมียอดจองเพิ่มเติมในส่วนที่สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) อีก 1,500 ล้านบาท
สำหรับการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ มีจำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย
หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2569 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.15 ต่อปี
หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2570 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.30 ต่อปี และ
หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2571 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.55 ต่อปี
โดยหุ้นกู้ของ XPCL เป็นไปตามมาตรฐาน Green Bond Principles 2021 และ ASEAN Green Bond Standards 2018 และได้ผ่านการสอบทานโดยองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำของโลก DNV ในฐานะผู้สอบทานอิสระ (Independent External Reviewer)
ทั้งนี้หุ้นกู้กรีนบอนด์ของ XPCL ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ในระดับ BBB+ จากบริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด ซึ่งการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยมีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้
XPCL เป็นบริษัทร่วมของ CKPower ที่ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 42.5 โดย XPCL เป็นบริษัทที่จดทะเบียนใน สปป.ลาว และได้รับสัมปทานจากรัฐบาล สปป.ลาว ให้ออกแบบ พัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ XPCL ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำได้ประมาณ 7,400 ล้านหน่วยต่อปี (GWh/Year) ซึ่งจัดเป็นพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และเป็นพลังงานสะอาดที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถช่วยลดการปล่อย CO2 ได้ประมาณ 3.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e)
ที่มา: ซีเค พาวเวอร์