นางสาว กฤชวรรณ ซื้อเจริญชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETL เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 โดยใช้ชื่อย่อ 'ETL' ในการซื้อขายหลักทรัพย์ หลังประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้น IPO ในช่วงที่ผ่านมา จำนวน 171.86 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขาย 1.68 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) ที่ประมาณ 18.67 เท่า โดยภายหลังจากเปิดจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 24-26 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา หุ้น ETL ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก สะท้อนความเชื่อมั่นในพื้นฐานการดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศที่ครบวงจรและมีศักยภาพการเติบโตสูง ช่วยสนับสนุนให้ ETL เป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนภายหลังจากเข้าเทรด
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีนโยบายลงทุนและขยายธุรกิจเพื่อดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ เพื่อเชื่อมโยงประเทศในยุโรปและเอเชียให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นผ่านการขนส่งที่รวดเร็ว คุ้มค่า และหลากหลายรูปแบบ ด้วยเงินที่บริษัทฯ จะได้รับจากการออกและเสนอขายหุ้น IPO ภายหลังหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 266.06 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้เงินดังนี้
- ลงทุนในยานพาหนะ ขยายกำลังการขนส่ง โดยให้บริษัทย่อยในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เพิ่มความสามารถและขยายขอบเขตการการให้บริการขนส่งสินค้าทั้งในเส้นทางที่ให้บริการอยู่ รวมถึงเส้นทางใหม่ๆ ที่จะเปิดให้บริการในอนาคต โดยเบื้องต้นมีแผนจะขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศกัมพูชา
- ลงทุนในตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการขนส่ง เข้าลงทุนเพิ่มเติมในตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งตู้แบบควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container) และตู้แบบปกติ (Dry Container)
- ลงทุนในลานตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้มีพื้นที่ในการจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์และลานจอดสำหรับรถลากจูงและรถกึ่งพ่วง รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับการซ่อมแซมและบำรุงรักษาตู้คอนเทนเนอร์และยานพาหนะ
- ลงทุนในระบบการบริหารจัดการการขนส่ง ETL ให้ความสำคัญเรื่องของเทคโนโลยีซึ่งเป็นพื้นฐานของการบริหารจัดการการขนส่ง จึงมีแผนจะพัฒนาระบบ Transportation Management System (TMS) ที่ใช้จัดการเที่ยวรถภายในกลุ่มบริษัทฯ เพื่อให้รองรับการให้บริการที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการต้นทุนและเที่ยวรถอย่างเป็นระบบ
- เพื่ชำระคืนเจ้าหนี้ค่าซื้อกิจการ จากการเข้าซื้อธุรกิจในปี 2564
- เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วน เพื่อลดต้นทุนทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และ
- ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ
กรรมการผู้จัดการบริษัท ETL กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สำคัญเพื่อรักษาการเป็น THE CROSS-BORDER KING หรือ ผู้นำธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศที่ครบวงจร ได้แก่ (1) ทีมบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจากประเทศต้นทางไปยังประเทศปลายทางเป็นไปตามเงื่อนไขภายใต้ระยะเวลาที่ลูกค้าต้องการ (2) พัฒนาคุณภาพ ความปลอดภัยและสร้างความแตกต่างในการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน โดยลงทุนจัดตั้ง Command Center ในสำนักงานของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์ที่ใช้ในการติดตามสถานะการขนส่งสินค้าและประสานงานการขนส่งระหว่างประเทศต่างๆ และพัฒนาโปรแกรม TMS เพื่อใช้ติดตามสถานะการขนส่ง ตำแหน่งและความเร็วของรถบรรทุกแบบเรียลไทม์ (Real Time)
(3) เข้าถึงความต้องการของลูกค้าและมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและรักษาฐานลูกค้าเดิม พร้อมนำเสนอการให้บริการใหม่ๆ ที่ตรงตามความต้องการเพื่อช่วยประหยัดต้นทุนของลูกค้ามากขึ้น (4) จัดตั้งบริษัทย่อย บริษัทร่วม และศูนย์รวมสินค้า (Hub) ในประเทศต่างๆ ทั้งในมาเลเซีย เวียดนาม และจีน โดยมีผู้บริหารและบุคลากรท้องถิ่นที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ประจำอยู่ เพื่อเข้าถึงลูกค้าในแต่ละประเทศได้มากขึ้น (5) มุ่งเน้นการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นประโยชน์แก่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นในระยะยาว และ (6) มีธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม การเคารพสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ
ทั้งนี้ ETL ถือเป็นหุ้นที่ดำเนินธุรกิจบริการการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศตัวแรกที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตตามการค้าระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มขึ้นสูง ด้วยโอกาสเติบโตจากเส้นทางใหม่ที่เชื่อมต่อเอเชียกับยุโรปผ่านเส้นทางสายใหม่ (One-belt One-road) การค้าข้ามพรมแดนของไทยกับสิงคโปร์ เวียดนาม และจีนตอนใต้ ซึ่งที่มีการเติบโตสูง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร แผงโซล่าเซลล์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนแผนการขยายธุรกิจ ที่ ETL จะให้ความสำคัญแก่บริการตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container) มากขึ้นเพื่อจับตลาดส่งออกผลไม้ไทยที่กำลังเติบโต
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย