รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า คนไทยและชาวโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากปัญหาสารพิษที่แฝงอยู่รอบตัวเรามากขึ้นทุกขณะ เสี่ยงต่อปัญหาสารพิษจากอาหาร อากาศ ดิน และสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบนิเวศน์ และการตกค้างในสิ่งแวดล้อม ด้วยวิสัยทัศน์ สจล.ในความเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลกเพื่อคนไทยและมนุษยชาติ เรามุ่งมั่นในการเป็นผู้นำความปลอดภัยจากสารพิษ สานพลังผู้ประกอบการขับเคลื่อนไทยสู่ 'ไลฟ์สไตล์สีเขียวและวิถีออร์แกนิก' (Green lifestyle, Organic Environment) สนับสนุนการพัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable) สจล.จึงได้จัดตั้ง "สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล.' (KMITL Research Institute of Modern Organic Agriculture) ซึ่งมุ่งวิจัย พัฒนา สร้างนวัตกรรม 'การผลิตอาหารปลอดภัยจากสารพิษ (Safety Food)' เพื่อสุขภาพของคนไทยและมนุษยชาติ ดำเนินการ 'การรับรองเกษตรอินทรีย์โดย สถาบัน AATSEA-KMITL' และรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมผู้ประกอบการและเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การผลิตและการตลาดอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้านเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย โดยนำมาใช้ทดแทนสารเคมีเกษตรในการทำการเกษตรไม่ใช้สารเคมี (NAP, Non - Agrochemical Production) เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ 'เกษตรอินทรีย์ยุคใหม่' (Organic Agriculture) อย่างครบวงจรจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อีกทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจออร์แกนิกและเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เป็นจริง มีความมั่นคงเข้มแข็ง และยั่งยืน
การที่จะบรรลุเป้าหมายประเทศไทยเป็น'ฮับเกษตรปลอดสารเคมีของโลก' ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์-บริการออร์แกนิก ยกระดับครัวไทยเป็น 'ครัวโลกเพื่อสุขภาพดี' เป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่ยั่งยืน จำเป็นต้องระดมทรัพยากร ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากร องค์ความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนปัจจัยต่างๆ สจล.ขอเชิญชวนธุรกิจอุตสาหกรรม กิจการต่างๆ ให้หันมาใส่ใจลูกค้าผู้บริโภค และแนวทางออร์แกนิกด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รศ. ดร.เกษม สร้อยทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. (RIMOA KMITL) กล่าวถึง ความสำเร็จในการทำวิจัย 'สนามกอล์ฟออร์แกนิก' การคิดค้นนวัตกรรม และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ว่า สจล.ได้ร่วมกับ สยามคันทรีคลับ บางนา ดำเนินงานวิจัย 'สนามกอล์ฟออร์แกนิกครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน' ความสำเร็จของผลการวิจัย ในระยะ 3 เดือนของการปรับปรุงสนามกอล์ฟโดยการใช้ชีวภัณฑ์และนวัตกรรมของ สจล. พบว่า สารอาหารในดินเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และปริมาณโลหะหนักต่างๆ ได้ถูกย่อยสลายและลดลงอย่างเห็นได้ชัด และผลดีที่ได้รับจากการปรับปรุง 'ความเป็นกรด-ด่างของดิน' จากเดิมค่าความเป็นกรด ph2 - 3 ได้ปรับตัวมาเป็นกลาง ph6 - 6.5 ภายในเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ การตรวจสอบได้บ่งชี้ว่า ไม่พบสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง ไนเตรต หลังเข้าทำการปรับปรุงสนามด้วยชีวภัณฑ์ ความสำเร็จนี้จะนำไปต่อยอดกับธุรกิจไลฟ์สไตล์ให้เป็นออร์แกนิก กิน-อยู่-เที่ยว-เล่น ต่อไป เช่น สวนผักผลไม้ ฟาร์ม รีสอร์ท แหล่งท่องเที่ยว ศูนย์การค้า สวนสาธารณะ ศูนย์กีฬา โรงเรียน ชุมชนหมู่บ้าน เป็นต้น
ประเทศไทยในฐานะเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลก ความผันผวนเปลี่ยนแปลงของโลกและมาตรการกฎระเบียบการค้าที่เข้มงวดต่อผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไทยได้เวลาปรับตัวและเปลี่ยนผ่านเพื่อสอดรับกับความต้องการของตลาดนานาประเทศ เพื่อผลักดันความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และยกระดับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ปลอดภัยของไทยสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันด้วยพลังและบทบาทของการพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์นอกระบบของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
สำหรับ 3 ผลงานวิจัยนวัตกรรมเด่นที่ สจล. คิดค้นเพื่อโลกปลอดสารพิษ ได้แก่ 1. สารอินทรีย์ปรับปรุงสภาพดินและย่อยโลหะหนัก เพื่อเร่งการฟื้นฟูสนามหญ้าจากโรคพืช พร้อมทั้งกระตุ้นความสมบูรณ์ให้กับสนามหญ้า, 2.'นาโนอิลิซิเตอร์' (Nano-Elicitor) เป็นนาโนเทคโนโลยีจากสารออกฤทธิ์จุลินทรีย์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่พืช และ 'คีโตเมี่ยม' ผลงานวิจัยยาเชื้อป้องกันกำจัดโรคพืชและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ ปุ๋ยอินทรีย์ คิงฟาร์เมอร์ (Organic Fertilizer: King Farmer), นิวทริครอป จุลินทรีย์เพิ่มผลผลิต (Nutri-crop :Liquid Biofertilizer), บอทเอฟ ป้องกันโรคพืช (Bot-F for disease control), ไบโออินเส็ก จุลินทรีย์กำจัดแมลง สารสร้างภูมิคุ้มกันแมลง (Bio-insect: Pest-No for insect protection), ยารากัวร์ (Ya-Ra-Gua for insect and disease control) สารควบคุมแมลง, คีเท็ก (KETEK: increase plant growth and yield) กระตุ้นการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิต, NUTRI-FOOD : high potassium (K) increase yield, จุลินทรีย์ปรับสภาพดิน (Bio-decomposer for soil improvement)
3.'การรับรองเกษตรอินทรีย์โดย สถาบัน AATSEA-KMITL' ตามมาตรฐานสากล สจล.เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการจนถึงเกษตรกรในทุกระดับ สนับสนุนการตรวจสอบ การวัดประเมินผล และการรับรองเกษตรกร พื้นที่การเกษตร ไปจนถึงผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดจากเกษตรกรที่มีผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ผลกระทบทางภูมิสังคม และผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ ตั้งแต่เกษตรกรรายย่อยจนถึงเครือข่ายการเกษตรขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยและต่างประเทศ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตและการบริโภคผลผลิตทางการเกษตร อาทิ การให้เกษตรกรเลิกใช้สารกำจัดแมลงและศัตรูพืช เปลี่ยนการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรืออินทรีย์วัตถุ และการใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มมวลชีวภาพให้แก่ธาตุในดิน ตลอดจนการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การเกษตรมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการฝึกอบรมส่งเสริมและสร้างกำลังคนผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่สำหรับประเทศไทย
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. ได้ขยายความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ กับต่างประเทศ อาทิ การร่วมวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประเทศฟินแลนด์, Sathyabams Institute of Science and Technology, Chennei ประเทศอินเดีย Zhejiang Academy of Agricultural Science, Hangzhou จากจีน, Catanduanes State University ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น อีกทั้งร่วมมือทางวิชาการและวิจัยกับประเทศในกลุ่มสมาชิกของสมาคมเทคโนโลยีการเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (AATSEA) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 18 ประเทศ
คุณสมชาย สืบบุญศรีพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามเอสเตท แอนด์ โค จำกัด ในกลุ่มสนามกอล์ฟสยามคันทรีคลับ กล่าวว่า อันตรายของสารเคมีจากการสัมผัส สูดดม และติดตามตัวเสื้อผ้าไปสู่บ้านได้ กอล์ฟเป็นกีฬายอดนิยมและได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยสยามคันทรีคลับ ซึ่งปัจจุบัน มี 5 แห่ง นับเป็นสนามกอล์ฟชั้นนำมาตรฐานโลกของไทยและอาเซียน เรามุ่งมั่นในการพัฒนาบริการและคำนึงถึงการมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้มาใช้บริการอย่างไม่หยุดนิ่ง เราจึงได้ร่วมมือกับ สจล. ริเริ่มทำวิจัย 'สนามกอล์ฟออร์แกนิก' ด้วยนวัตกรรมชีวภัณฑ์เป็นแห่งแรก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อผู้มาใช้บริการ ซึ่งมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ พนักงาน รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีส่วนร่วมสร้างสังคมสีเขียวและธุรกิจที่เสริมความยั่งยืนแก่ประเทศโดยรวม
คุณกิตติศักดิ์ โพธิ์แก้ว โปรกอล์ฟ /ผู้อำนวยการหลักสูตรโปรแกรมผู้บริหารระดับสูงเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า สนามกอล์ฟออร์แกนิกในต่างประเทศเริ่มแล้ว ในไทยครั้งนี้เป็นการวิจัยครั้งแรก นับเป็นความฝันของนักเล่นกอล์ฟและโปรกอล์ฟที่จะเล่นได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยต่อสุขภาพ ปัจจุบันไทยมีสนามกอล์ฟกว่า 250 แห่ง และนักกอล์ฟทั่วประเทศ กว่า 2 ล้านคน เป็นคนไทย 1.2 ล้านคน และชาวต่างชาติ กว่า 800,000 คน การพัฒนาแนวคิดทางธุรกิจให้เป็นสีเขียวและออร์แกนิกนั้น จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยสูงขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีของประเทศไทย และสร้างประสบการณ์ความประทับใจ พร้อมไปกับกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย กิน-อยู่-เที่ยว-เล่น ของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการตลาดแบบบอกต่อและกลับมาใช้บริการซ้ำได้อีกด้วย
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น