จากชุดข้อมูลของสภาทองคำโลก การซื้อสุทธิของธนาคารกลางต่าง ๆ ในไตรมาสนี้นับว่าแข็งแกร่งที่สุดเป็นอันดับสาม โดยทะยานไปอยู่ที่ 337 ตัน แม้ว่าจะยังไม่ทำลายสถิติของไตรมาสที่ 3 ปี 2565 แต่ดีมานด์ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันสูงถึง 800 ตัน ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ให้กับชุดข้อมูลของเรา คาดว่าการแห่ซื้อทองคำต่อเนื่องของธนาคารจะยังไม่แผ่วไปจนถึงสิ้นปี บ่งชี้ให้เห็นว่ายอดรวมรายปีจะแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้งในปี 2566 นี้
ดีมานด์การลงทุนตลอดไตรมาสอยู่ที่ 157 ตัน เพิ่มขึ้น 56% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ดีมานด์ที่ลดลงในตลาดยุโรปรั้งการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาสที่ 3 แม้จะอยู่ที่ 296 ตัน แต่ก็นับว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าและค่าเฉลี่ยในช่วงห้าปีอย่างเห็นได้ชัด ETF ทองคำไหลออกอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 ส่วนใหญ่เป็นเพราะแรงหนุนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งต่อเนื่องของการลงทุน OTC ทำให้แตะ 120 ตันในไตรมาสที่สาม โดยแรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากดีมานด์ของผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศตุรกีและการตุนสินค้าในตลาดอื่น ๆ
ความต้องการเครื่องประดับยังคงฟื้นตัวเมื่อทองคำมีราคาสูงขึ้น แต่การบริโภคเครื่องประดับปรับลดลงเล็กน้อยที่ 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ไปอยู่ที่ 516 ตัน จากแรงกดดันด้านค่าครองชีพของผู้บริโภคในหลายตลาดทั่วโลก
อุปทานทองคำรวมเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาสที่ 3 โดยอัตราการผลิตจากการทำเหมืองตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแตะยอดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,744 ตัน ราคาทองคำที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยผลักดันการรีไซเคิลสู่ 289 ตัน โดยเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบเป็นรายปี
Louise Street นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของสภาทองคำโลกให้ความเห็นว่า:
"ดีมานด์ทองคำมีความยืดหยุ่นตลอดทั้งปีนี้ โดยเป็นไปในทิศทางที่ดีท่ามกลางกระแสอัตราดอกเบี้ยที่สูงและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ รายงานของเราแสดงให้เห็นว่า ดีมานด์ทองคำในไตรมาสนี้มีความแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของช่วงห้าปีที่ผ่านมา ในอนาคต เมื่อพิจารณาถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นและตามการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะซื้อทองคำต่อเนื่องในปริมาณมากแล้ว ดีมานด์ทองคำอาจสูงขึ้นกว่าที่คาดหมายไว้"
ที่มา: เอเดลแมน (ประเทศไทย)