นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า "กรมพัฒนาที่ดินมีภารกิจในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและน้ำจากการชะล้างพังทลายของดิน เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ ที่นับวันจะมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งพื้นที่ต้นน้ำที่ทำให้ดินเสื่อมโทรม การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร กลางน้ำเกิดอุทกภัยที่รุนแรง และปลายน้ำตะกอนดินที่ถูกชะล้างจะสะสมพื้นที่ลุ่มทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ในการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและดินถล่ม โดยมีแผนงานโครงการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้านที่ 4 การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ แผนงานลดการชะล้างพังทลายของดิน 2.65 ล้านไร่ วันนี้ถือเป็นวันที่สำคัญอีกวันหนึ่งของกรมพัฒนาที่ดิน ทั้งนี้ เนื่องจากการลงนาม MOU ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ จะส่งผลกระทบในการขับเคลื่อนงานภายใต้โครงการ "การอนุรักษ์ฟื้นฟู ระบบนิเวศ และป้องกันการชะล้างพังทลายของดินแบบบูรณาการ" ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
กรมพัฒนาที่ดิน มีความยินดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนข้อมูลวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรดินและน้ำ การป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและดินถล่ม และการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน ตามกรอบแห่งบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ทุกประการ"พร้อมร่วมพิธีเปิดงานโครงการบูรณาการสื่อสารแผนบริหารทรัพยากรน้ำลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำจาก "เอลนีโญ" โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยนำเสนอผลงานผ่านนิทรรศการ "งานบริหารจัดการลุ่มน้ำด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ" ที่ได้วางแผนและบริหารจัดการดินและน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ จัดทำขั้นบันไดดิน คันดินเบนน้ำ ปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินบนพื้นที่ลาดชัน พื้นที่กลางน้ำจัดทำบ่อดักตะกอนดิน ทางลำเลียงในไร่นา ก่อสร้างแหล่งน้ำพร้อมระบบสูบน้ำ กระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และปลายน้ำปรับรูปแปลงนา ปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมทำระบบคลองส่งน้ำ กระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถแก้ปัญหาทั้งระบบในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทรัพยากรดินและน้ำได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ที่มา: กรมพัฒนาที่ดิน