BMHH เผยพบคนไทยเครียด ป่วยจิตเวช-ซึมเศร้า เป็นอันดับหนึ่ง แนะหมั่น "สำรวจ เข้าใจ รู้เท่าทัน" จิตใจและอารมณ์ตัวเอง

อังคาร ๐๗ พฤศจิกายน ๒๐๒๓ ๑๕:๒๐
โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านจิตเวช Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH เผยหลังเปิดให้บริการกว่า 3 เดือน พบผู้ที่เข้ามารักษากว่า 70%  เป็นโรคซึมเศร้า  รองลงมาเป็นโรควิตกกังวล  และโรคเครียด  โดยมีช่วงอายุเฉลี่ย 25-40  ปี  ชี้สอดรับกับเทรนด์ด้านสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ มั่นใจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะดูแลรักษาสุขภาพจิตใจให้แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH เปิดเผยว่า  ตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล BMHH ซึ่งได้เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน (ระยะเวลากว่า 3 เดือน)  มีผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาจำนวนกว่า 1000 ราย โดยพบว่า อันดับ 1 ของโรคทางจิตเวชที่เข้ารับการรักษา คือ โรคซึมเศร้า อันดับ 2 คือ โรควิตกกังวล อันดับ 3 คือผู้ที่มีความเครียดสูงและต้องการคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ปัญหาคู่ครอง ปัญหาเรื่องการทำงาน ส่วนอันดับ 4 และ 5 ได้แก่ โรคแพนิค และโรคไบโพลาร์ ตามลำดับ นอกจากนี้พบอีกว่าช่วงอายุของผู้เข้ารับการรักษา จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 25-40 ปี ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เริ่มวางแผนชีวิตจริงจัง มีความคาดหวังในการทำงาน แต่งงาน มีลูก มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตค่อนข้างมาก รวมถึงสิ่งแวดล้อมปัจจุบันที่มีความเครียด ความกดดัน มีการแข่งขัน  และมีความคาดหวังสูง

"จากตัวเลขสถิติที่รักษาคนไข้ในช่วงกว่า 3 เดือนของ รพ. BMHH  ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน  ในเรื่องของตัวเลขสถิติด้านสุขภาพจิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น  ซึ่งสอดรับกับเทรนด์ทั่วโลกที่เหมือนกันทั้งหมด คนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะ หากมีปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น ด้านสังคม เศรษฐกิจ ครอบครัว  รวมถึงโรคระบาด ล้วนส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพจิต ขณะเดียวกันในปัจจุบันเราจะพบลักษณะของผู้รับบริการที่มีปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะ ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคจิตเภท ซึ่งมีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน, โรคทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล แพนิค, ภาวะการปรับตัวผิดปกติ หรือกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ ยังพบว่าผู้ที่มารับบริการในปัจจุบันเพิ่มเติม คือ กลุ่มที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรค แต่ต้องการคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา ได้แก่ ผู้ที่มีความเครียด มีความไม่สบายใจ แก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ เช่น มีปัญหาการปรับตัวในการเรียน การทำงาน ปัญหาด้านความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก หรือความสัมพันธ์ระหว่างคู่ครอง ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีมาก ๆ ที่คนส่วนใหญ่มองเห็นว่าการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นเรื่องปกติ  

พญ.ปวีณา กล่าวต่อไปว่า อาการป่วยของผู้ป่วยด้านจิตเวชเกิดจากหลายสาเหตุ ยกตัวอย่าง โรคซึมเศร้า ที่เราพบว่าเกิดจากสารเคมีในสมองที่มีความไม่สมดุล ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่เศร้าผิดปกติ การรักษาด้วยยาเพื่อช่วยปรับสารเคมีในสมองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมียาชนิดใหม่ๆ มากขึ้น ร่วมกับการรักษาด้วยการทำจิตบำบัด หรือ พฤติกรรมบำบัด ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย แนวทางการรักษาของ BMHH มีการวางแผนเฉพาะบุคคลร่วมกันของทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก พยาบาลเฉพาะทางและเภสัชกร โดยผู้รับบริการจะได้รับการประเมินและทำแบบทดสอบเบื้องต้นจากพยาบาล จากนั้นจิตแพทย์ จะวินิจฉัยจากการสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากผู้ป่วยหรือญาติ ร่วมกับแบบประเมิน แบบทดสอบต่าง ๆ และวางแผนการรักษา ขณะที่นักจิตวิทยาคลินิกจะช่วยในการทำจิตบำบัดหรือพฤติกรรมบำบัด และทีมเภสัชกรจะดูแลเรื่องของการรับประทานยา ผลข้างเคียงของการใช้ยา กรณีที่มีโรคประจำตัวและมียาที่รับประทานเป็นประจำ ทีมเภสัชกรจะคัดกรองยาที่ห้ามรับประทานร่วมกันเป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า BMHH  ชูกลยุทธ์สร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นจากโรงพยาบาลทั่วไป ทั้งเรื่องการรักษาโรคเฉพาะทาง การบริการ  การนำยาและนวัตกรรมใหม่ ๆ  ตลอดจนเครื่องมือทางการแพทย์ มาช่วยเสริมกับความชำนาญของทีมแพทย์ที่เป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย จึงมั่นใจว่าจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงที่สุด เราเชื่อว่าการดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ปัจจัยสำคัญ ไม่ใช่แค่จิตแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน

 "โรคทางจิตเวชเป็นโรคที่รักษาได้ เป็นโรคของความรู้สึก พฤติกรรม ความคิด แตกต่างจากโรคทางกายทั่วไป ต้องสังเกตให้ลึกซึ้ง มองหาต้นเหตุของการป่วยมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น สิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่เป็นอย่างไร มีพฤติกรรมบางอย่างที่ผู้ป่วยทำเป็นประจำและส่งผลไม่ดีต่อตัวเองหรือไม่  การวินิจฉัยโรคและการรักษาต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง นอกจากการรับประทานยาแล้วอาจจะต้องปรับความคิด ปรับพฤติกรรมบางอย่าง เวลาดูแลผู้ป่วยไม่ใช่แค่มาหาจิตแพทย์ ได้ยาไปรับประทานแล้วจบ แต่ต้องดูแลชีวิตว่าเขาจะอยู่ต่ออย่างไร จะกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้หรือไม่ ญาติพี่น้องมีความเข้าใจ ช่วยเหลือผู้ป่วยได้แค่ไหน"

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต เราจึงควรหมั่นสำรวจและทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเอง บริหารจัดการอารมณ์ ความเครียด หากต้องการความช่วยเหลือ ควรรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เพื่อขอคำแนะนำ หาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดสะสม จนส่งผลกระทบต่อร่างกาย และจิตใจ หากมีปัญหาสุขภาพจิต สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามและรับบริการได้ที่ โรงพยาบาล BMHH ติดต่อสอบถาม 02 589 1889 หรือ e-mail [email protected]

ที่มา: ชมฉวีวรรณ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ