ประเทศที่เอื้อเฟื้อที่สุดในโลกได้แก่อินโดนีเซีย ซึ่งครองอันดับนี้มาเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ส่วนประเทศที่เอื้อเฟื้อที่สุดเป็นอันดับสองได้แก่ยูเครน ซึ่งยังเป็นประเทศที่ไต่อันดับขึ้นมามากที่สุดของดัชนีนี้ด้วย โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นหลังจากติดอันดับที่ 10 ในปีที่แล้ว และมีเพียง 3 ประเทศจาก 10 อันดับแรกที่เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก (อินโดนีเซีย สหรัฐ และแคนาดา) ขณะที่หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดและด้อยพัฒนาที่สุดในโลกอย่างไลบีเรีย ติดอันดับ 4
ดัชนีการให้ระดับโลกของซีเอเอฟ (CAF World Giving Index) เป็นหนึ่งในผลสำรวจเกี่ยวกับการให้ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดทำมา โดยมีการสัมภาษณ์ผู้คนนับล้านคนทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2552 และดัชนีของปีนี้ยังรวมถึงข้อมูลจาก 142 ประเทศที่ผู้คนถูกตั้งคำถาม 3 ข้อได้แก่ พวกเขาเคยช่วยเหลือคนแปลกหน้า เคยให้เงิน หรืออาสาเพื่อการกุศลในรอบเดือนที่ผ่านมาหรือไม่
ข้อมูลใหม่ที่ออกมาในปีนี้แสดงให้เห็นปัจจัยใหม่ ๆ ที่มีอิทธิพลต่อความเอื้อเฟื้อทั่วโลกดังนี้
- คนที่มีความเชื่อทางศาสนาแรงกล้ามีคะแนนดัชนีการให้โดยรวมสูงกว่า ยกเว้นยุโรปที่ไม่มีความแตกต่างในแง่นี้
- คนที่ให้คะแนนชีวิตของตนเองในแง่บวกมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะช่วยเหลือการกุศล ขณะที่ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกหลายประเทศติด 10 อันดับแรกในเรื่องการบริจาคเงิน (สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และไอซ์แลนด์)
- ผู้อพยพมีความเป็นไปได้ที่จะให้มากกว่าพลเมืองประจำชาติ โดยเฉพาะในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ
นีล ฮีสลอป (Neil Heslop) OBE ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิเพื่อการกุศล กล่าวว่า
"ดัชนีการให้ระดับโลกของซีเอเอฟทำให้เรามีเหตุผลที่จะมองมุมบวกอย่างมีความหวังในช่วงเวลาที่เกิดความไร้เสถียรภาพรุนแรง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นสิ่งที่อยู่ในพฤติกรรมมนุษย์โดยกำเนิด และผูกพวกเราทุกคนเข้าไว้ด้วยกันในฐานะประชาคมโลก ความหลากหลายของประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของดัชนีนี้สะท้อนให้เห็นความหลากหลายในแง่ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม การให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างสัมพันธ์กับผู้คนที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าพวกเขาอยู่อีกฝั่งของถนน หรืออยู่อีกด้านหนึ่งของโลก"
"นั่นคือสาเหตุที่เราเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทำมากกว่านี้ เพื่อสนับสนุนผู้ที่สามารถทำได้ เพื่อให้เงินและเวลาที่จะส่งเสริมองค์กรภาคประชาสังคมที่มีพลังและฟื้นตัวได้ ขณะที่องค์กรเหล่านี้กำลังเผชิญกับความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากความขัดแย้ง และผู้พลัดถิ่น"