นักธรณีวิทยา จุฬาฯ พบหลักฐานใหม่ บ่งชี้การอยู่อาศัยของคนโบราณ บนเขาพนมรุ้ง-เขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์

ศุกร์ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๐๒๓ ๑๗:๔๒
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สำรวจพบกองหินและแนวหินจำนวนมากบนเขาพนมรุ้ง-ปลายบัด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งในทางธรณีวิทยาแปลความหมายได้ว่าไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ในอดีต

ศ.ดร.สันติ ให้ข้อมูลว่าในทางธรณีวิทยา เขาพนมรุ้งและเขาปลายบัด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นภูเขาไฟยุคควอเทอร์นารี เกิดจากการประทุและไหลหลากของลาวาเมื่อประมาณ 1 ล้านปีก่อน เมื่อลาวาเย็นและแข็งตัวจะกลายเป็น หินบะซอลต์ (basalt) ซึ่งมีทั้งแบบบะซอลต์เนื้อแน่น (massive basalt) บะซอลต์รูพรุน (vesicular basalt) และสคอเรีย (scoria) ที่มีรูพรุนมากคล้ายฟองน้ำ ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของปริมาณก๊าซที่มีอยู่ในมวลลาวาและรายละเอียดทางธรณีวิทยาของการประทุในแต่ละครั้ง

จากการลงพื้นที่สำรวจทั้งเขาพนมรุ้งและเขาปลายบัด ศ.ดร.สันติ และทีมนักวิจัย พบว่า โดยธรรมชาติจะมีก้อนหินบะซอลต์หลากหลายขนาดกระจายแบบสุ่มอยู่เต็มพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สันติ ตั้งข้อสังเกตว่าในบางพื้นที่มีก้อนหินบะซอลต์กองรวมกันอยู่อย่างหนาแน่นเป็นชั้นๆ 2 - 3 ชั้น กองเป็นเนินขนาดเล็กบ้าง กองสูงท่วมหัวบ้าง และในหลายๆ ที่ยังพบลักษณะคล้ายกับว่ามีการจัดวางและเรียงก้อนบะซอลต์เป็นแนวยาว 150 - 200 เมตร บนเขาปลายบัด หรือเป็นรูปทรงคร่าวๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามธรรมชาติทางธรณีวิทยา

นอกจากการกองรวมกันเป็นเนินเป็นแนวแล้ว อีกข้อสังเกตทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจคือ เนินหรือแนวมักจะเกิดจากการกองรวมกันของหินบะซอลต์ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และเป็นขนาดพอเหมาะที่มนุษย์จะสามารถยกย้ายได้ อนุมานว่าก้อนหินบะซอลต์เหล่านี้อาจจะผ่านการคัดขนาดเป็นอย่างดี เพื่อให้เหมาะที่จะนำมาใช้หรือนำมากอง

นอกจากนี้กลุ่มหินบะซอลต์ในแต่ละเนินหรือแนวหินบะซอลต์ จะประกอบไปด้วยหินบะซอลต์หลากหลายเนื้อหิน ทั้งหินบะซอลต์เนื้อแน่น หินบะซอลต์รูพรุน รวมถึงหินสคอเรีย รวมกันอยู่ในเนินหรือแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในมิติทางธรณีวิทยา เนื่องจากเนื้อหินจะแตกต่างกันก็ต่อเมื่อเกิดจากการประทุของภูเขาไฟคนละเหตุการณ์ที่ไหลหลากกันคนละพื้นที่

จากการสืบค้นเชิงเอกสารในแหล่งโบราณคดีพื้นที่อื่น พบว่ามีพฤติกรรมการกองหินเป็นแนวนี้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นในพื้นที่แหล่งโบราณคดีทางตอนเหนือของรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ศ.ดร.สันติ จึงสรุปว่า กองหรือแนวหินบะซอลต์ที่พบบนเขาพนมรุ้งและเขาปลายบัดเกิดจากกิจกรรมมนุษย์ที่คัดเลือกหินขนาดพอเหมาะ รวบรวมและเคลื่อนย้ายมาก่อรวมกัน เพื่อการก่อสร้างหรือเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง นอกจากปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเขาปลายบัด ๑ และ ปราสาทเขาปลายบัด ๒ ที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาแล้ว ภายในป่าพื้นที่โดยรอบบนเขาทั้งสองลูก ยังมีการใช้พื้นที่และอยู่อาศัยของคนในอดีตเช่นกัน

รายชื่อทีมสำรวจ : สันติ ภัยหลบลี้, กังวล คัชชิมา, สมบัติ มั่งมีสุขศิริ, อุเทน วงศ์สถิตย์, ปัญญา จารุศิริ, ปัญญา นากระโทก, จักรกริช อุดรพิมพ์, และ ตามศักดิ์ วงศ์มุนีวร

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ