ขณะเดียวกัน กทม.ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยและกำชับให้โรงเรียนในสังกัด กทม.เข้มงวดเรื่องการรับ-ส่งนักเรียนและปฏิบัติตามกฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถรับ-ส่งนักเรียน จนอาจเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งร่างกายและจิตใจ โดยโรงเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน เครือข่ายผู้ปกครอง และชุมชน จัดทำมาตรการแนวทางการปฏิบัติในการรับ-ส่งนักเรียน ร่วมกันจัดระบบรักษาความปลอดภัยการเดินทางและกำหนดหน้าที่ผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน เช่น ครูเวรดูแลการรับ-ส่งนักเรียนด้านหน้าประตูโรงเรียน ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยดูแลในช่วงเช้าและช่วงเวลาเลิกเรียน กรณีโรงเรียนอยู่ในซอยลึกให้โรงเรียนประสานเจ้าหน้าที่สายตรวจดูแลจุดเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้แก่เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง
นอกจากนั้น กทม.ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กทม.และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส เมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 ได้ดำเนินโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) โดยจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนจากครอบครัวที่ยากจน/ด้อยโอกาส เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา รวมถึงค่าเดินทางมาเรียนของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ที่ผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ในอัตรา ดังนี้ ชั้นอนุบาล คนละ 4,000 บาท/ปี ชั้นประถมศึกษา คนละ 3,000 บาท/ปี และชั้นมัธยมตอนต้น คนละ 3,000 บาท/ปี ซึ่งเริ่มคัดกรองนักเรียนยากจนในปีการศึกษา 2/2565 มีนักเรียนได้รับทุนเสมอภาค จำนวน 1,091 คน คิดเป็นเงิน 1,706,000 บาท และดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีการศึกษา 1/2566 มีนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาค จำนวน 1,194 คน คิดเป็นเงิน 1,846,000 บาท
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนและที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ หลายโครงการ อาทิ การกำหนด School Zone เพื่อติดตั้งเครื่องหมายจราจร อุปกรณ์ความปลอดภัย และกล้องวงจรปิด (CCTV) หน้าโรงเรียน โครงการเด็กเริ่มผู้ใหญ่ร่วม โครงการแจกหมวกกันน็อกให้นักเรียนสังกัด กทม.และโครงการเดินรถ BMA Feeder ย่านสามเสนเชื่อมต่อฝั่งธนบุรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักเรียนช่วงก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ
ทั้งนี้ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พ.ย.66 สจส.จะได้นำประเด็นดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ศปถ.กทม.เพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งคณะทำงานฯ จัดทำแผนความปลอดภัย แก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาระบบจัดการรถรับ-ส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: กรุงเทพมหานคร