- เบาหวานประเภทที่ 1 พบได้ประมาณร้อยละ 5 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน และไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกินไป อาจทำให้หมดสติ และเสียชีวิตได้ มักพบในเด็กและวัยรุ่น
- เบาหวานประเภทที่ 2 พบได้มาก ประมาณร้อยละ 95 และมักจะพบในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน กลุ่มนี้มักไม่มีอาการอย่างเฉียบพลัน แต่หากขาดการควบคุมและรักษา สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันได้ เช่น เกิดความดันโลหิตสูง โรคทางตา ไต และโรคหลอดเลือดหัวใจ
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากการตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนจากรก ทำให้ประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง จึงทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งตรวจพบได้ในช่วงของการตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก เราจึงเรียกว่า "เบาหวานขณะตั้งครรภ์"
- เบาหวานจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม หรือโรคของตับอ่อน เบาหวานประเภทนี้พบเจอได้ค่อนข้างน้อย
"เบาหวานขณะตั้งครรภ์" ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับคนที่วางแผนจะมีบุตร เพราะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ คือผู้ที่สร้างคนรุ่นใหม่ (next generation) ซึ่งสามารถส่งผลต่อชีวิตของลูกในอนาคตได้
จากการศึกษาวิจัยโดยการติดตามลูกที่เกิดจากแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในระยะยาวพบว่า เด็กกลุ่มนี้จะมีน้ำหนักตัวมาก มีภาวะของโรคอ้วน และมีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะเป็นเบาหวานได้ในอนาคต จึงเป็นเหตุผลที่เราควรจะต้องป้องกันตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ สำหรับตัวคุณแม่เองหลังจากคลอดแล้วฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่จะต้องกลับสู่ภาวะปกติ แต่ก็มีงานวิจัยพบว่า ร้อยละ 40-50 ของแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีภาวะเสี่ยงสามารถจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ภายในระยะเวลา 5-10 ปี หลังจากคลอดได้
ดังนั้น สตรีที่วางแผนจะมีลูก ควรมีการวางแผนดูแลตนเองให้ห่างไกลจากเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยการรักษาน้ำหนักของตนเองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ค่าดัชนีมวลกายระหว่าง 18.8-22.9 กก./ตร.ม.) ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตในเรื่อง การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการควบคุมอารมณ์
คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
การรับประทานอาหาร - คุณแม่ตั้งครรภ์ควรแบ่งมื้ออาหารเป็น 3 มื้อหลัก 3 มื้อย่อย และรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป โดยแบ่งสัดส่วนอาหารเป็น 2:1:1 (ผัก 2 ส่วน ข้าว/แป้ง 1 ส่วน และโปรตีน 1 ส่วน) เลือกทานโปรตีนที่ไม่ติดมัน ใช้ไขมันไม่อิ่มตัวในการปรุงอาหาร เน้นอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และเลือกวิธีการปรุงอาหารที่เหมาะสม ใช้การต้ม นึ่ง แทนการผัด หรือทอด เป็นต้น
การออกกำลังกาย - ทำให้สารอินซูลินในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ให้ได้ 3-5 วัน/สัปดาห์ อาจใช้วิธีการเดิน เล่นโยคะ หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
การควบคุมอารมณ์ - ความเครียดส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ คุณแม่จึงควรหากิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลงที่ชอบเป็นต้น
คือ
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานนั้น สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมของตนเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยากของคนทั่วๆ ไป แต่ว่าก็ไม่ใช่จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เสียทีเดียว ถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้
1.การตั้งเป้าหมายพฤติกรรม คือกำหนดว่าเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านไหนของเรา เช่น ลดการรับประทานของมัน ของหวาน เป็นต้น
2.การสร้างแรงจูงใจ คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีลูกเป็นเหตุผลที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการปรับพฤติกรรมของตนเองให้ประสบผลสำเร็จได้
3.การสร้างความเชื่อมั่น การได้รับคำชื่นชมจากคนในครอบครัวและคนรอบข้าง เป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้
4.การติดตามผลลัพธ์ เพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ประสบความสำเร็จ และพร้อมสำหรับการก้าวต่อไป
"เบาหวาน เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละบุคคล การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อสุขภาวะที่ดี จะทำให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานได้"
ที่มา: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล