โดยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 คณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติการจ่ายปันผลระหว่างกาลส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 14,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้
นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครือ อีกประมาณ 34,000 ล้านบาท รวมกลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจ
9 เดือนแรกของปี 2566 ให้กับรัฐ เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ แล้วประมาณ 48,000 ล้านบาท โดยการจ่ายเงิน
ปันผลจะพิจารณาให้เหมาะสมกับกำไร สถานะทางการเงิน สภาพคล่อง รวมถึงแผนการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางพลังงาน สนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง ดังตลอดระยะเวลา 45 ปี ที่ผ่านมา พร้อมมุ่งจุดพลังชีวิต ขับเคลื่อนอนาคต สร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและก้าวสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน
ทั้งนี้ ปตท. ขานรับนโยบายลดผลกระทบค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. วันที่ 19 ตุลาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้ ปตท. เรียกเก็บค่าเชื้อเพลิงตามค่าควบคุม และยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้กลุ่มภาคไฟฟ้าในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ตามมติ ครม. พร้อมให้ทยอยจ่ายคืนส่วนต่างในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรอบถัดไปตามที่ กกพ. เห็นชอบ มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ปตท. สนับสนุนงบประมาณบรรเทาผลกระทบต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะวิกฤตต่าง ๆ ให้กับประชาชนแล้ว กว่า 25,000 ล้านบาท โดยเมื่อช่วงต้นปีนี้ ปตท. ยังได้มีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่า 6,000 ล้านบาท รวมถึงช่วยเหลือผู้ใช้พลังงานในภาคส่วนอื่น ๆ ทั้ง LPG NGV และสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อร่วมดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล พร้อมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ที่มา: ปตท.