ผนึกกำลังภาครัฐ -นักวิชาการแพทย์ เร่งขับเคลื่อนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หวังประชาชนกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทย ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมในทุกช่วงวัย เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต จากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

พุธ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๐๒๓ ๑๐:๓๗
มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมกับ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย และกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดแถลงข่าวในหัวข้อ "วัคซีนกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หลังการระบาดของโควิด 19 สำคัญและจำเป็นแค่ไหนในทุกช่วงวัย" เนื่องในวันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก 2566 World Immunization Day 2023 เพื่อเป้าหมายสูงสุดของทุกหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่มุ่งหวังให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดี และได้รับการป้องกันโรคที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ (สามย่าน) นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กล่าวเปิดการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน และกล่าวถึงความสำคัญในการจัดกิจกรรมว่า ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น "วันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก" (World Immunization Day)" มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ซึ่งมีบทบาทหลักในการส่งเสริมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน ได้ร่วมกับ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมวิชาการ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทุกช่วงวัย มีสุขภาพดี และปลอดภัยจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่จะขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และบรรลุตามเป้าหมายในระดับประเทศและตามแผนปฏิบัติการวัคซีนโลก คือ การลดการป่วย การตาย ทุกคนในสังคมโลกปลอดภัยจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ภายในปี พ.ศ. 2573

ด้าน พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ว่าการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จะประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ในประเทศไทยยังคงพบปัญหาด้านความครอบคลุมของวัคซีนพื้นฐานในประชากรเป้าหมายบางกลุ่ม พบการป่วย และการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเป็นระยะ เช่น โรคหัด นอกจากนี้ ยังคงพบปัญหาการเข้าถึงวัคซีนใหม่ และปัญหาความลังเลในการเข้ารับวัคซีน

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวทั้งหมด มีความสำคัญและจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของสถาบันเช่นกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน โดยมีการมุ่งเน้นการสื่อสารด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง จากผู้เชี่ยวชาญสู่ประชาชน รวมถึงมีการปรับแนวทางและรูปแบบการสื่อสารให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และเข้าถึงข้อมูลด้านวัคซีนที่ถูกต้อง รวมถึงป้องกันไม่ให้ประชาชนเสียโอกาสในการป้องกันโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน อันเกิดจากปัญหาการส่งต่อข้อมูลด้านวัคซีนที่คลาดเคลื่อน ทั้งยังส่งเสริมให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทย ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมในทุกช่วงวัย เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ขณะที่ นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโควิด 19 เด็กและผู้ใหญ่จำนวนมาก ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ บาดทะยัก มะเร็งปากมดลูก โรคหัด และโรคอื่น ๆ ตามกำหนด ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการ "The Big Catch Up" เพื่อให้เด็กและประชาชนทั่วไปมีโอกาสได้รับวัคซีนที่ขาดในช่วงปีที่ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงให้ครบถ้วน สำหรับความสำคัญของวัคซีนนั้นเป็นเหมือนหลักประกันให้ผู้คนรอดพ้นจากการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต นับเป็นหลักประกันในการไม่เป็นโรคในช่วงบั้นปลายชีวิต โดยทุกคนในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็สามารถเข้าถึงหลักประกันหรือวัคซีนได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าว นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้นำเสนอความก้าวหน้าเรื่องความครอบคลุมของการรับวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยว่า ในปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์การเพิ่มอัตราความครอบคลุมการฉีดวัคซีน (The Big Catch up) ที่สอดรับกับการรณรงค์ขององค์การอนามัยโลก โดยได้เร่งรัดการฉีดวัคซีนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย จนทำให้การรับวัคซีนมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังพบปัญหาอัตราการรับวัคซีนต่ำในบางพื้นที่ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนมีการเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น โดยหนึ่งในภารกิจที่ดำเนินการขณะนี้ คือการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ซึ่งจะช่วยลดการป่วยและการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกในอนาคต โดยกำหนดเป้าหมายการฉีด 1 ล้านเข็มใน 100 วัน สำหรับผู้หญิงอายุ 11-20 ปี ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ซึ่งได้มีการประกาศความร่วมมือเดินหน้าเร่งรัดการฉีดวัคซีน ร่วมกับ 13 หน่วยงานเรียบร้อยแล้ว

ด้าน รศ. นพ.ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทและภารกิจของสมาคมฯว่า สมาคมฯ ได้เห็นความสำคัญของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนในผู้ใหญ่ ซึ่งได้จัดทำแนวทางการให้วัคซีนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น ขณะนี้ประเทศไทยพบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก รวมทั้งโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคงูสวัด โรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัส ทั้งนี้การให้วัคซีนในผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีความเสี่ยง เป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งในปัจจุบัน เรามีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ และวัคซีนสามารถลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตของประชาชนได้

ขณะที่ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้แทนสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของสมาคมว่า เป็นองค์กรที่ให้ความรู้ และฝึกอบรมกุมารแพทย์ให้มีความรู้เรื่องโรคติดเชื้อ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้โรคติดเชื้อทั้งหลาย จำเป็นต้องใช้วัคซีนในการป้องกัน ซึ่งจะเห็นได้จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา วัคซีนสามารถลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตของผู้คนได้จำนวนมาก รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า "มีวัคซีน ไม่เท่ากับได้รับวัคซีน"

และช่วงท้ายของการแถลงข่าว รศ. นพ.สุรสิทธิ์ ชัยทองวงศ์วัฒนา ผู้แทนราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภารกิจหลักของหน่วยงาน คือ การดำเนินงานด้านสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา แต่สำหรับบทบาทที่สำคัญ คือ การดูแลส่งเสริมสุขภาพอนามัยของสตรีในทุกช่วงวัย สำหรับความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การส่งเสริมการใช้วัคซีนสำหรับสตรีวัยเจริญพันธุ์ ทั้งสนับสนุนงานด้านวิชาการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาคำแนะนำการให้วัคซีนสำหรับสตรีกลุ่มต่าง ๆ โดยพิจารณาข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์ที่ทันสมัยและคำนึงถึงความเหมาะสมต่อบริบทของประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านระบาดวิทยา และเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และที่สำคัญคือการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับการใช้วัคซีนไปยังแพทย์สาขาต่าง ๆ บุคลากรทางสาธารณสุข รวมถึงประชาชน

สำหรับคำแนะนำของการให้วัคซีนวัยเจริญพันธุ์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 วัยรุ่น/วัยเจริญพันธุ์ก่อนตั้งครรภ์ ควรรับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนที่จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก และกลุ่มที่ 2 คือ หญิงตั้งครรภ์ ที่ควรรับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดอาการรุนแรงขณะตั้งครรภ์ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อทารกในครรภ์ด้วย เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

ที่มา: เอบีเอ็ม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ