สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เปิดเวทีประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากภาคี ดันให้ทบทวนการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

พฤหัส ๑๖ พฤศจิกายน ๒๐๒๓ ๑๖:๐๗
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2566 สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภัคดี อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาสถานการณ์การใช้และการได้รับสัมผัสวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานด้านกฎหมายเพื่อกับกับดูแลผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาด ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นผู้ใช้ข้อกำหนดต่างๆ ตามทีกฎหมายกำหนด ภายหลังมีการสำรวจสถานการณ์การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่ม ประเมินความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัสวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งได้ข้อมูลนำมาพิจารณาร่วมกันเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคผ่านปริมาณสูงสุดที่จะอนุญาตให้เติมลงในผลิตภัณฑ์ (Maximum limit) โดยมีนางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ  รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)  เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นเกียรติ โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 50 คน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)

ผศ. ดร. ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภัคดี หัวหน้าโครงการฯ ระบุว่า การสำรวจสถานการณ์การได้รับสัมผัสวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มภายหลังจากที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้นโยบายภาษีน้ำตาล (Sugar tax) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ส่งเสริมให้มีการลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศไทย ขานรับแนวทางการดูแลสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งแนะนำให้ทุกประเทศทั่วโลกลดระดับการใช้น้ำตาลลง 10% ของพลังงานรวมทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ที่ตามมา ทั้ง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกในปัจจุบัน อีกทั้งองค์การอนามัยโลก เคยออกมาเตือนเมื่อเร็วๆ นี้ว่าหนึ่งในสารให้ความหวาน "แอสปาร์แตม" อาจเป็น "สารก่อมะเร็ง" โดยทางองค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) ได้ออกมาชี้แจงว่า แอสปาร์แตมถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 2B หมายถึง พบการก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และอาจก่อมะเร็งในมนุษย์แต่หลักฐานยังไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยในการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีความตื่นตัวที่จะลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้เป็นไปตามข้อแนะนำของ WHO และตามกฏหมายอาหารของแต่ละประเทศ เพื่อคงรสชาติหวานของผลิตภัณฑ์ ทำให้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลกลายเป็นตัวเลือกยอดนิยมและมีแนวโน้มของการใช้สารให้ความหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศใช้มาตรการภาษีน้ำตาลจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยไม่เคยมีการศึกษาข้อมูลการได้รับสัมผัสสารให้ความหวานแทนน้ำตาล แม้ว่าก่อนหน้าที่จะมีการประกาศใช้มาตรการภาษีน้ำตาล ผศ. ดร. ปรัญรัชต์ และทีมนักวิจัยของสถาบันโภชนาการ ได้มีการสำรวจข้อมูลการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งขณะนั้นพบว่า เด็กอายุระหว่าง 3-9 ปี ได้รับสัมผัสสารให้ความหวานแทนน้ำตาลทุกชนิดสูงที่สุด แต่ปริมาณการได้รับสัมผัสของทุกกลุ่มอายุยังต่ำกว่าค่าปริมาณที่ร่างกายสามารถรับสารนั้นได้ในแต่ละวันตลอดอายุขัยโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ (Acceptable Daily Intake: ADI)

ด้วยเหตุนี้ ภายหลังมีประกาศการใช้มาตราการภาษีน้ำตาล ทีมวิจัยของสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เล็งเห็นความสำคัญในการทำวิจัยให้ครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ดังนั้น การทำวิจัยล่าสุด จึงได้ลงพื้นที่ศึกษาสถานการณ์จริง โดยเริ่มจาก 1) การสำรวจผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ในท้องตลาดตลาด 2) จัดทำสมุดภาพเพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาปริมาณการบริโภค เพื่อประเมินการได้รับสัมผัสสารให้ความหวาน 3) วิเคราะห์ความเข้มข้นของสารให้ความหวานที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ และ 4) ประเมินความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัสของผู้บริโภค จากงานวิจัยนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชวนให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นถึงสถานการณ์การใช้สารให้ความหวานในประเทศไทย ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับค่าปริมาณสูงสุดของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่อนุญาตให้เติมลงในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (Maximum limit) หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยปัจจุบันการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ใช้เกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ซึ่งรายละเอียดที่ได้จากการศึกษาวิจัยดังกล่าวจะเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตีพิมพ์

การทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่นักวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ เปิดพื้นที่ชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ออกกฎหมาย ตลอดจนสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) ร่วมกันทบทวนปริมาณสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่จะอนุญาตให้เติมลงในผลิตภัณฑ์ โดยทีมวิจัยจากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เสนอ "4 สถานการณ์" (4 Scenarios) แบบจำลองที่จะใช้ทบทวนการคำนวณหาปริมาณที่จะอนุญาตให้เติมลงในผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค"เพราะทุกคนคือผู้มีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบต่อสังคม"

ที่มา: สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ