ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงความท้าทายของประเทศไทยที่จะสามารถนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้าไปช่วยขับเคลื่อนได้ รวม 5 ประการ 1) การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDE) จากตัวอย่างในหลายประเทศที่มีแนวทางนำประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางผ่านการทำบริษัทเทคโนโลยี หรือการนำเอานวัตกรรมเข้าไปขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเราได้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวน IDE ที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย เพื่อเป็นส่วนช่วยขยับรายได้ของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น 2) การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง (High value add) โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ในการผลิต เช่น กลุ่มอาหารแห่งอนาคต (future food) ในอุตสาหกรรมยานยนตร์ ที่ไม่ใช่แค่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่จะต้องมองไปถึงระบบอัตโนมัติ (autonomous) หรือในอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่ตอนนี้คนไทยมีขีดความสามารถในการผลิตยาชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceutical) ได้เอง 3) การขยับสถานะของประชากรฐานราก (social mobility) หรือประชากรที่อยู่ในฐานของพีระมิดของประเทศ เป็นส่วนจำเป็นที่จะทำให้ภาพรวมของประเทศขยับต่อไปได้
4) เรื่องของความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เชื่อมโยงกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งในปีนี้จะมีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และประเทศไทยเตรียมนำโชว์เคสของประเทศเราไปนำเสนอ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการทำสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ ที่เป็นการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง สอวช. กำลังอยู่ระหว่างขับเคลื่อนการทำมหาวิทยาลัยสีเขียว (green university) หรือมหาวิทยาลัยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วย (net zero university) และ 5) การพัฒนาและยกระดับทักษะบุคลากรในประเทศ เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ปัจจัยทั้ง 4 ส่วนแรกเกิดขึ้นได้
"ยุคสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เราเปลี่ยนจากการใช้ชีวิตแบบ 3 ขั้นตอน (three-stage life) เป็นชีวิตแบบหลากหลายขั้น (multi stage Life) คือ เกิด เรียน ทำงาน กลับมาปรับหรือเพิ่มทักษะ และกลับไปทำงานใหม่ ซึ่งความก้าวหน้าในอนาคตจะทำให้คนมีอายุยืนและแข็งแรงขึ้น โดยข้อมูลจากแบบสำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ สอวช. รวบรวมไว้ แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งงานที่สำคัญในแต่ละอุตสาหกรรมต้องมีสมรรถนะอย่างไร เพื่อช่วยเป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยปรับการเรียนการสอนให้ตอบทักษะความต้องการที่เปลี่ยนไป ซึ่งการผลิตคนรูปแบบเดิมจะไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างเท่าทัน" ดร.กิติพงค์ กล่าว
ทั้งนี้ สอวช. ได้ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาการด้านกำลังคนของประเทศในหลายรูปแบบ อาทิ การสนับสนุนให้เกิดการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (higher education sandbox) เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมด้านการอุดมศึกษารูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ติดข้อจำกัดของการเรียนการสอนแบบเดิม โดยเป็นการทำงานแบบ co-creation ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนในการออกแบบหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ตัวอย่างเช่น หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีจุดเด่นคือการเปิดโอกาสให้นิสิตที่เรียนจบในแต่ละปีตามโมดูล เมื่อได้รับประกาศนียบัตร (Certificate) รับรองแล้ว สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ทันทีโดยไม่ต้องรอจบการศึกษา 4 ปี และยังสามารถสะสมหน่วยกิตที่เรียนแล้วไว้ได้ในคลังหน่วยกิต และกลับมาเรียนต่อเพื่อเพิ่มเติมทักษะหรือปรับตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ หรือหลักสูตรการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur โดย International School of Management (ISM) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ Harbour.Space University ประเทศสเปน ที่นำเอาผู้ประกอบการระดับโลกเข้ามาให้ความรู้ เพื่อพัฒนาให้นักศึกษาในหลักสูตรออกไปเป็นผู้ประกอบการที่มีความรู้ขั้นแนวหน้า (frontier knowledge) ด้านเทคโนโลยี
นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI พัฒนาแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ หรือ แพลตฟอร์ม STEMPlus ขึ้น เป็นแพลตฟอร์มที่รองรับการพัฒนากำลังคนตามความต้องการ รวบรวมหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนากำลังคน พร้อมสิทธิประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับ ทั้งในการจ้างงานบุคลากรด้าน STEM และการส่งบุคลากรในหน่วยงานเข้าฝึกอบรม โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ผ่านการฝึกอบรมไปแล้วกว่า 50,000 คน และอยู่ระหว่างขยายผลสิทธิประโยชน์ในรูปแบบ cashback ไปยังกลุ่มบริษัทขนาดเล็ก SME สตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นการออกแบบระบบการให้มาตรการจูงใจที่จำเพาะต่อความต้องการที่แตกต่างกันของภาคธุรกิจ รวมถึง สอวช. ยังสนับสนุนให้มีโมเดลการฝึกอบรมระยะสั้นในรูปแบบ Bootcamp สำหรับบุคลากรที่ต้องการทำงานในทักษะเฉพาะ โดยความร่วมมือกับองค์กรเจเนเรชั่น ประเทศไทย (Generation Thailand) เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีงานทำแบบเร่งด่วนตอบโจทย์ตลาดงานทั้งด้านดิจิทัลและด้านการดูแลผู้สูงอายุในโครงการ GenNX Model อีกด้วย
ที่มา: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)