นายพงศ์ภัค สุทธิพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ 2 บริษัทหลักทรัพย์ ไอ วี โกลบอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ STONE ที่ได้ยื่นขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 65 ล้านหุ้น คิดเป็น 21.16% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ในครั้งนี้ คาดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในไตรมาส 1 ปี 2567 ในหมวดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
STONE ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างชนิดหินแกรนิตและชนิดหินปูน ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แร่โดโลไมต์ รวมถึงการให้บริการด้านขนส่งให้แก่ลูกค้าที่ไซต์งาน โดยบริษัทมุ่งเน้นในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และมุ่งมั่นในการให้บริการเพื่อตอบสนองความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีการศึกษาและวิจัยในการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ปัจจุบัน และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการบริหาร คุณภาพของสินค้า การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าและรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสำคัญ
ด้าน นางสาวกฤษพร ขุนจันทร์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ 2 บริษัทหลักทรัพย์ ไอ วี โกลบอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ด้วยจุดเด่นของ STONE คือ เป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างมากกว่า 27 ปี และยังมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ มีฐานะการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำเพียง 0.17 เท่า และมีส่วนของทุนสูงถึงกว่า 600 ล้านบาท จึงมีศักยภาพที่สูงในการขยายธุรกิจได้อีกในอนาคตภายหลังจากการระดมทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
นายทรงวุธ เวชชานุเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สโตนวัน จำกัด (มหาชน) หรือ STONE เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตและสนับสนุน STONE เดินหน้าสู่เป้าหมายที่จะขยายแหล่งวัตถุดิบ และการผลิตในอนาคต ต่อยอดธุรกิจหินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยการเข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองหินที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว หรือการพัฒนาเหมืองหินใหม่ ซึ่งอยู่ในที่ตั้งที่เหมาะสม พร้อมด้วยเจตนารมณ์การทำเหมืองอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีการกำหนดมาตรการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองระหว่างการทำเหมืองเพื่อให้เติบโตก้าวไปพร้อมกับบริษัท ด้วยการจัดให้มีกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง และกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมือง ซึ่งบริหารจัดการกองทุนโดยคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์
บริษัทฯ ยึดมั่นการดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก ESG ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ธุรกิจควรเติบโตควบคู่ไปกับการคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งล้วนมีความเชื่อมโยงและเอื้อต่อความยั่งยืนของธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทได้รับรางวัลมาตรฐานสิ่งแวดล้อมจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งรางวัลสถานประกอบการเครือข่ายที่มีการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง (CSR-DPIM Continuous Award) ประเภทเหมืองแร่ และรางวัลมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Continuous Award) ประเภทเหมืองแร่ และประเภท โรงงานโม่ บด หรือย่อยหิน รวมถึงได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) ตั้งแต่ปี 2556 อย่างต่อเนื่อง สะท้อนการมุ่งเน้นด้านคุณภาพสินค้า การจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จนได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2015, ISO 14001:2015 และ ISO 45001:2018 อย่างต่อเนื่อง
วัตถุประสงค์ในการระดมทุนที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจเหมืองหินและแร่ ในการเข้าซื้อเหมืองใหม่ และลงทุนในเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างความยั่งยืนในอนาคต
โดยผลการดำเนินงานปี 2565 กลุ่มบริษัทมีรายได้รวม 279.55 ล้านบาท กำไรสุทธิ 21.56 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 7.71% โดยรายได้หลักของกลุ่มบริษัทมาจากธุรกิจเหมืองหินและแร่โดโลไมต์ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 95% ของรายได้รวม และผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนของปี 2566 กลุ่มบริษัทมีรายได้รวม 281.51 ล้านบาท กำไรสุทธิ 32.70 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 11.62%
ที่มา: ไออาร์ พลัส