โดยนางสาวสิริพักตร์ สุวรรณทัต ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กล่าวถึงที่มา และวัตถุประสงค์ของโครงการว่า เนื่องจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าข้อมูลการจดทะเบียนรถสะสมภาพรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนจำนวนกว่า 42.86 ล้านคัน ซึ่งเป็นรถที่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. เพียง 34. 21 ล้านคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 79.83 ของรถที่จดทะเบียนทั้งหมด นอกจากนี้จากข้อมูลการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย (1 มกราคม 2566 - 31 ตุลาคม 2566) ได้มีการเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถมากถึง 8,033 ราย คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 159 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนรถที่ไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. จำนวนมาก โดยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ประสบภัยนั้นเกิดจากรถจักรยานยนต์
กล่าวได้ว่าการจัดกิจกรรม "คปภ. ปลุกพลังนักบิด คุ้มครองอย่างห่วงใย ด้วยประกันภัย พ.ร.บ. " ในครั้งนี้ จะสร้างความตระหนักให้กับประชาชนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประกันภัย พ.ร.บ มากยิ่งขึ้น โดยได้เน้นกลุ่มเป้าหมายคือผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืน และผลักดันให้ทุกพื้นที่มีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างเต็มรูปแบบทั้งนี้ การประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือ ประกันภัย พ.ร.บ. ถือเป็นประกันภัยภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทุกคันทุกประเภทต้องจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร รวมถึงคนเดินเท้า
อีกทั้งสำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนด้านประกันภัย พ.ร.บ. ในหลากหลายมิติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองตามประกันภัย พ.ร.บ. จากเดิม 300,000 บาท ให้ได้รับความคุ้มครองสูงสุด 500,000 บาท การขยายช่องทางการจำหน่ายประกันภัย พ.ร.บ. ให้ประชาชนสามารถซื้อหรือต่อประกันภัย พ.ร.บ. ที่สะดวกยิ่งขึ้น อาทิ ช่องทางเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เคาน์เตอร์เซอร์วิสใน 7-11 นอกเหนือจากการซื้อผ่านตัวแทน หรือนายหน้าประกันภัย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีระยะเวลาความคุ้มครองระยะยาว 3 - 5 ปี เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และเป็นการเพิ่มทางเลือกแก่ประชาชน
รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการขนส่งทางบก เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศในการตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ก่อนชำระภาษีรถยนต์ประจำปี สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นว่าจังหวัดชลบุรีเป็นเมืองที่สำคัญทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว โดยเป็นจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง และเป็นส่วนหนึ่งของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และมีจำนวนของผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมาก รวมถึงจังหวัดชลบุรีมีความพร้อมที่จะเป็นพื้นที่แรกในการปลุกพลังและส่งเสริมประชาสัมพันธ์เรื่องประกันภัย พ.ร.บ. ให้ตระหนักถึงความสำคัญ รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับจากการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. รวมทั้งตั้งเป้าหมายผลักดันให้จังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่ในการทำประกันภัย พ.ร.บ. เต็มรูปแบบ 100%นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการจัดกิจกรรมที่สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการให้ความบันเทิงแก่ผู้เข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรม Roadshow การสร้างการรับรู้ด้านประกันภัย พ.ร.บ. ในย่านชุมชนใกล้นิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และเชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงานผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์
รวมถึงกิจกรรมรณรงค์ ที่จัดให้มีการเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์จากประกันภัย พ.ร.บ. การออกบูธประชาสัมพันธ์ให้ความรู้จากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมินิคอนเสิร์ตจากธัญญ่า อาร์สยาม อีกทั้งในปีนี้ยังได้มีกำหนดการจัดกิจกรรมรณรงค์ "คปภ. ปลุกพลังนักบิด คุ้มครองอย่างห่วงใย ด้วยประกันภัย พ.ร.บ." ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. มีความเชื่อมั่นว่า การผนึกกำลังร่วมกับจังหวัดชลบุรีและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในวันนี้ เปรียบเสมือนเป็นการร่วมมือร่วมใจและปลุกพลังเพื่อสื่อสารถึงประชาชน โดยเฉพาะเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองทุกคน ได้ตระหนักถึงความสำคัญและรับรู้ถึงประโยชน์ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของการทำประกันภัย พ.ร.บ. โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับงานโครงการ และประกันภัย พ.ร.บ. รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ Facebook กองทุนทดแทนผู้ประกันภัย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สายด่วน คปภ. 1186
ที่มา: ธีอ๊อกซีนี่ พีอาร์