ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากมีการหารือระหว่างกระทรวงการคลังและ FETCO มีรายละเอียดเบื้องต้นของ TESG ซึ่งเป็นกองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ในการนำเงินลงทุนมาลดหย่อยภาษี ประกอบด้วย
1) วงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย หรือไม่เกิน 30% ของเงินได้
2) ระยะเวลาการถือครอง 8 ปีเต็ม
3) ลงทุนให้หุ้น ESG และตราสารหนี้
หากเปรียบเทียบ TESG กับกองทุนรวมอย่าง SSF ที่ปัจจุบันให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีอยู่ ถือว่าน่าสนใจทีเดียว เนื่องจาก มีระยะการถือครองสั้นกว่าเหลือ 8 ปี และวงเงินรวมแยกออกจากการลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพระยะยาวอื่นๆ เช่น RMF, ประกันบำนาญ, SSF เป็นต้น) ดังนั้น เมย์แบงก์มองว่า จะได้กระแสตอบรับดีจากทั้ง บลจ. ที่เป็นผู้ออกกองทุนและนักลงทุนที่ได้ลงทุนในกองทุนอื่นๆไปแล้ว หรือยังไม่ได้ลงทุนในช่วงที่ผ่านมา จะหันมาให้ความสนใจ โดยกระทรวงการคลังคาดจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดหุ้นในช่วงปลายปีประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
ทีมกลยุทธ์ เมย์แบงก์ มีความเห็นว่า สินทรัพย์ที่เน้นลงทุนในหุ้น ESG ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศไปเมื่อ 6 พ.ย. นั้น จะเป็นหุ้นกลุ่มที่กองทุนรวม TESG สามารถเข้าลงทุนได้ โดยกองทุนที่ บลจ. จะออกมาขายส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Active Fund คือลงทุนในหุ้นที่มี ESG Rating ไม่ต่ำกว่า 75-80% ของ NAV ทั้งนี้ เมย์แบงก์ ได้เลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลงทุน Thailand ESG Fund ภายใต้เงื่อนไขตามนี้คือ มี ESG Rating ที่ดี, บริษัทมีแผนธุรกิจที่จะสามารถสร้างกำไรและกระแสเงินสดได้อย่างยั่งยืน, ราคาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ, โมเมนตัมกำไร 4Q66 และดีต่อเนื่องในปี 2567และมีสภาพคล่องสูงเพียงพอ แม้ว่าจะมีบางส่วนที่เป็น Passive ลงทุนตามดัชนี SETESG Index แต่จะมีแรงเก็งกำไรหุ้นที่ถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี SETESG รอบ 1H67 ในช่วงกลางเดือน ธ.ค. โดยหุ้นที่เมย์แบงก์ เห็นว่าจะได้ประโยชน์และเข้าเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อ คือ KBANK SCGP RBF
สำหรับ KBANK (ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 150 บาท) มีแนวโน้มกำไร 4Q66 ได้ผลบวกจากดอกเบี้ยขาขึ้นมาช่วยชดเชยค่าธรรมเนียมที่ยังอ่อนแอ และเห็นคุณภาพสินทรัพย์เชิงบวกตั้งแต่ 3Q66 มีการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งได้ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เน้นเพิ่มกำลังซื้อประชาชน และช่วยเหลือธุรกิจ SMEs สำหรับ ESG Rating อยู่ในระดับ AAA ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุด และเป็นหนึ่งในหุ้น Big Cap ที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายหลักเข้าซื้อของ TESG จาก Market Cap ที่มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 1.8% ของ SET
หุ้น SCGP (ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 45 บาท) เมย์แบงก์ คาดกำไร 4Q66 จะฟื้นตัวดีขึ้น จากแรงสนับสนุนที่รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยหนุนกระดาษบรรจุภัณฑ์มีราคาปรับขึ้น และธุรกิจในอินโดนีเซียได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และไม่มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง 100 ล้านบาท กำไรปี 2567 จะฟื้นตัว 24% YoY ราคาหุ้นปัจจุบันได้ทรุดลงมาหนักนับจากต้นปี 35%YTD ลงมารับข่าวลบไปเยอะแล้ว แนะนำซื้อสะสม รอการฟื้นตัวตามทิศทางกำไรทีดีขึ้น สำหรับ ESG Rating ได้ระดับ AA มี market cap. และสภาพคล่องสูง
หุ้น RBF (ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 14 บาท) มีกำไรปกติ 3Q66 ทำจุดสูงสุดรายไตรมาสและดีกว่า Consensus คาด 9% เกิดจากรายได้ในประเทศฟื้นตัวดี และต่างประเทศก็ได้แรงหนุนจากลูกค้าของจีนและอินเดีย (คิดเป็นสัดส่วน 44%ของรายได้รวม) แนวโน้มกำไร 4Q66 เติบโตต่อ เพิ่มแรงหนุนให้ราคาหุ้นช่วงท้ายปี ส่วนกำไรปี 2567 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามทิศทางต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง สำหรับ ESG Rating อยู่ระดับ BBB และมีโอกาสถูกนำมาคำนวณในดัชนี SETESG รอบ 1H67 ที่จะประกาศกลาง ธ.ค. นี้ จะมีการเก็งกำไรระยะสั้น เพราะเป็นหุ้นเป้าหมายเข้าซื้อของกองทุน ESG แบบเชิงรับ ก่อนจะมีผลในเดือน ม.ค. 67
ที่มา: ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์