ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "วิถีคิดผู้นำด้านการพัฒนาคนสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน" ว่า "คนเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงาน (human-centered approach) ตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลที่เรียกว่า "New Growth Path" เพื่อตอบโจทย์ Fifth Industrial Revolution ซึ่งประกอบด้วย 3 มิติคือ (1) Green growth การคำนึงถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย (2) Innovation-driven growth การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆรวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินนโยบายภาครัฐ และการทำธุรกิจของภาคเอกชน และ (3) Community-based growth การยกระดับแรงงานและการพัฒนากระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ การสร้างงาน โดยมีนโยบายด้านแรงงานที่นำไปสู่การจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ซึ่งภาคเอกชนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตและธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในหลากหลายมิติเช่น การวัด carbon footprint ขององค์กร การสนับสนุนให้ supply chain ในธุรกิจเป็นธุรกิจสีเขียว การให้โอกาสธุรกิจเล็ก ๆ หรือ entrepreneurs สร้างสรรค์ business model ใหม่ ๆ"
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ UNGCNT และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า "การเตรียมความพร้อมของ "คน" หรือทรัพยากรมนุษย์ นอกจากจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงแล้ว ยังจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุค 5.0 หรือยุคที่มนุษย์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน พร้อมทั้งเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ สู่ "สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน" สำหรับนักเรียน นักศึกษา ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยี เรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง (Action-Based Learning) และเพิ่มความสามารถในการปรับตัวด้วย Growth Mindset บ่มเพาะ "จิตสำนึกแห่งความยั่งยืน" ครูผู้สอน ต้องปรับบทบาทจากผู้สอน (Instructor) เป็น โค้ช ผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) เพื่อบ่มเพาะผู้นำการเปลี่ยนแปลง และมีตัวชี้วัดที่ส่งเสริมความโปร่งใส โดยภาคเอกชน สามารถทำบทบาทนี้ได้ ด้วยการจัดกิจกรรมเป็นฐานหรือศูนย์การเรียนรู้ สอดคล้องกับ SDGs ข้อที่เกี่ยวกับธุรกิจของตน แรงงาน องค์กรควรปรับมุมมองในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ว่าเราจะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไรให้เสริมงานที่ทำ นายจ้างรวมถึง ภาครัฐ ควรเตรียมทักษะแรงงานและทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้แรงงานปัจจุบันและอนาคต สามารถทำงานกับ AI ได้ เรายืนยันบทบาทของ UNGCNT ที่จะระดมกำลังสนับสนุนการปฏิรูประบบการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถของครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา พัฒนาแรงงาน ให้มีทักษะเหมาะสม ต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5.0 เน้นการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม สร้างคน SI - Sustainable Intelligence ที่มี "ภูมิปัญญาที่ยั่งยืน" สร้างพื้นที่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียวสำหรับอนาคตว่า "การต่อยอดทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของวัฒนธรรมและสังคม เทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวและผลักดันเราสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยความอัจฉริยะ หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี และเราหวังว่าจะสามารถช่วยสร้างประโยชน์ให้กับทุกคน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนได้"
ดร. ชวพล กล่าวเสริมว่า หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสู่ทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และ ทุกองค์กร เพื่อสร้างประเทศไทยที่มีการเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อให้บรรลุภารกิจนี้ หัวเว่ยได้สร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องโดยมีกลยุทธ์ความยั่งยืนสี่ประการ ได้แก่ ความเท่าเทียมทางด้านดิจิทัล ความปลอดภัยและเชื่อถือได้ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็งและสมดุล
"ความมุ่งมั่นในการสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลของเราประกอบไปด้วย 4 แนวทางหลัก อันได้แก่ การศึกษา สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และการพัฒนา ในด้านการศึกษา เราตั้งเป้าจะผลักดันทั้งในด้านความเท่าเทียมและคุณภาพของมาตรฐานการศึกษา ในด้านสิ่งแวดล้อม เราต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ ในด้านสาธารณสุข เราต้องการผลักดันการเข้าถึงบริการและข้อมูลทางการแพทย์ที่เท่าเทียม และในด้านการพัฒนา เรามุ่งมั่นที่จะเชื่อมต่อรวมถึงประยุกต์ใช้ไอซีทีเพื่อเร่งการพัฒนาในพื้นที่ห่างไกล" ดร. ชวพลกล่าว
ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์