"มูลนิธิสัมมาชีพ" มอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ปี 66 เชิดชู "คน-องค์กร" นำสังคมสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่

พฤหัส ๒๓ พฤศจิกายน ๒๐๒๓ ๑๕:๒๕
"มูลนิธิสัมมาชีพ" มอบ 15 รางวัล "ต้นแบบสัมมาชีพ" ปี 2566 แก่ "บุคคล - เอสเอ็มอี  - วิสาหกิจชุมชน - ปราชญ์ชาวบ้าน เชิดชูเกียรติ ผู้ยึดแนวทางสัมมาชีพจนประสบความสำเร็จ หวังเป็นแบบอย่างเคลื่อนสัมมาชีพเต็มพื้นที่ "ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์" อดีตประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.เบทาโกร คว้ารางวัล "บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ" โดยทายาทยืนยันพร้อมสานต่อเจตนารมณ์ดร.ชัยวัฒน์ 

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า มูลนิธิสัมมาชีพได้จัดงานมอบรางวัล "ต้นแบบสัมมาชีพ" ครั้งที่ 9 ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด "สัมมาชีพ สร้างความมั่นคงฐานราก สร้างความยั่งยืนประเทศ : Stability for Sustainability" เพื่อประกาศเกียรติคุณและยกย่องเชิดชู บุคคล-เอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน-ปราชญ์ชาวบ้าน ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบการ โดยยึดหลักปฏิบัติตามแนวทางสัมมาชีพ นั่นคือ การประกอบอาชีพโดยไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้  ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลเหล่านี้จะเป็นเสมือน "ผู้นำทางสังคม" สร้างแรงบันดาลใจให้คนหรือองค์กรต่าง ๆ นำไปปรับใช้ ขยายผลสู่การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ต่อไป  

 "การจัดงานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพมีขึ้นเพื่อยกย่องผู้ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการอย่างถูกต้องบนหลักของสัมมาชีพ และมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม โดยหากทุกภาคส่วนได้ดำเนินการบนแนวทางนี้แล้ว จะมีส่วนสำคัญในการร่วมสร้างเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง"  นายประเสริฐ กล่าว

ในงานดังกล่าวมีแขกผู้มีเกียรติและองค์กรภาคีเข้าร่วมงานคับคั่ง อาทิเช่น ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และดร.อรรชกา สีบุญเรือง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เคยได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ คือ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2553  และนายประทีป ตั้งมติธรรม บุคคลต้นแบบสัมมาชีพประจำปี 2561 เข้าร่วมด้วย

สำหรับรางวัล "ต้นแบบสัมมาชีพ" ประจำปี 2566 มี 4 ประเภทคือ รางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ และรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ

"รางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ" มอบให้แก่ ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ อดีตประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ และอดีตประธานกรรมการบริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด นับเป็นบุคคลต้นแบบคนที่ 9 ตั้งแต่มีการมอบรางวัลนี้เมื่อปี 2552 เป็นต้นมา

ดร.ชัยวัฒน์ เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแบบอย่างของการสร้างตัวจนประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับมายาวนานด้านการทำธุรกิจโดยสุจริต เป็นผู้ยึดหลักการทำธุรกิจที่ว่า "ความถูกต้องต้องมาก่อนกำไร" ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนแบบองค์รวม จนเกิดเป็นโมเดลพัฒนาพื้นที่ในชื่อ "ช่องสาริกาโมเดล"

ด้านนายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ทายาท ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ กล่าวขอบคุณมูลนิธิสัมมาชีพที่มอบรางวัลนี้ให้แก่ดร.ชัยวัฒน์  และระบุว่า ดร.ชัยวัฒน์ถือเป็นผู้ซึ่งยึดหลักการดำเนินธุรกิจโดยสุจริต ยึดหลักความถูกต้องต้องการก่อนกำไร และเกื้อกูลชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ประจักษ์กันดี

สำหรับ "ช่องสาริกาโมเดล" ถือเป็นโมเดลพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของเบทาโกร เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ ต.ช่องสาริกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  โดยยึดแนวคิดการพัฒนาในเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-Based - HAB) เน้นการดำเนินการระดับตำบล ในทุกมิติ ได้แก่ การส่งเสริมอาชีพ ดูแลสุขภาพ  ช่วยเหลือสังคม ดูแลสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการศึกษา นอกจากนี้ยังร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มหาวิทยาลัย  องค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานรัฐอื่นๆ และสร้างกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) มาทำงานเป็นกลไกเสริม

"คุณพ่อสร้างเบทาโกรมาจริงๆ ตั้งแต่ยังเป็นผืนดินที่รอการพัฒนา จนมาเป็นวันนี้ เสียดายที่คุณพ่อไม่ได้มาเล่าเรื่องราวความสำเร็จนี้ด้วยตัวเอง ลูกๆ หลานๆ จะนำแนวคิดของคุณพ่อไปดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คุณพ่อเป็นคนดุ มีพรสวรรค์ในการขาย สอนเสมอว่าทุกคนเมื่อมีสิทธิ์ ก็ต้องมีหน้าที่ และคุณพ่อในฐานะพี่คนโตของตระกูล จะภูมิใจเสมอที่ดูแลกิจการให้อยู่มาได้ตลอดรอดฝั่ง"  นายวนัส กล่าว

สำหรับรางวัลอื่นๆ ที่มอบในงานนี้ประกอบด้วย สำหรับ "รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ" มอบให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีคุณลักษณะตามหลักสัมมาชีพ มีธรรมาภิบาล มีความสามารถทางธุรกิจและธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโต ควบคู่ไปกับการมีบทบาทส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม มีผู้ที่ได้รับรางวัล 5 ราย ได้แก่

บริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จ.มหาสารคาม เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายต้นกล้าพันธุ์พืชที่เกิดจากการขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

บริษัท พิมธา จำกัด จ.ปราจีนบุรี  ดำเนินกิจการแปรรูปไม้ไผ่เพื่อการตกแต่งและก่อสร้าง โดยใช้นวัตกรรมระบบป้องกันมอดในไม้ไผ่ด้วยการอัดน้ำยาแบบสุญญากาศเป็นรายแรกและรายเดียวในไทย

บริษัท สไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด  จ.ราชบุรี  เป็นผู้ผลิตเฟรนช์ฟรายส์ที่ทำจากถั่วเขียวร้อยเปอร์เซ็นต์รายแรกและรายเดียวของไทย

บริษัท อัฟนานจิวเวลรี่ จำกัด จ.ยะลา ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณีทุกชนิดในสไตล์ศิลปะลังกาสุกะ ถือเป็นการสืบทอดลวดลายศิลปะแบบโบราณ

บริษัท เทิร์นทูอาร์ต จำกัด จ.นนทบุรี ผลิตสินค้าจากเศษวัสดุเหลือใช้เป็นงานศิลปะเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการจัดการขยะ

"รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ" จำนวน 5 รางวัล มอบให้กับวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีในการประกอบการบนหลักสัมมาชีพ สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนจากสินค้าใหม่ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งนำความรู้ เทคโนโลยีมาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ และดำเนินงานโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรางวัล 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

วิสาหกิจชุมชนประเภทการเกษตร ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพิลาฟาร์มสตูดิโอ จ.เพชรบูรณ์ นำแนวคิดด้านการออกแบบแฟชั่นมาผนวกกับธุรกิจการเกษตรของชุมชน พัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ประเภทแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง จ.ขอนแก่น ผลิตข้าวแตนสูตรต่างๆ โดยการผลิตมีมาตรฐาน

ประเภทแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร ได้แก่ วิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HAND RUSO จ.นราธิวาส ทำกิจการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปขนาดใหญ่

ประเภทการเงินและสวัสดิการชุมชน ได้แก่ สถาบันการเงินชุมชนบ้านดอน จ.เชียงใหม่ ให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร และขยายสู่การลงทุนในกิจการอื่นๆ

ประเภทการบริการและการท่องเที่ยวโดยชุมชน  ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต จ.ภูเก็ต พัฒนาการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าโดยนำสถาปัตยกรรมเมืองเก่ามาเป็นจุดเด่น

"รางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ" มี 4 รางวัล เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลที่ริเริ่ม สร้างสรรค์งาน จนสำเร็จด้วยหลักสัมมาชีพ และนำมาสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการทำงานที่ก่อให้เกิดคุณค่า เผยแพร่ความรู้และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น หรือระดับประเทศ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ประกอบด้วย

นายวิโรจน์ คงปัญญา มีผลงานการเงินและสวัสดิการชุมชน โดยเป็นผู้คิดค้นวิธีการบริหารระบบการเงิน การให้เงินกู้ ของกลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคา จ.นครศรีธรรมราช จนได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนออมทรัพย์

นายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ มีผลงานด้านการผลิตและปรับปรุงพันธุ์มังคุด เป็นริเริ่มการรวมกลุ่มผู้ปลูกมังคุดท่ามะพลา จ.ชุมพร เพื่อผลิตมังคุดคุณภาพ และเป็นต้นแบบประมูลมังคุดเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก ที่รู้จักในชื่อ "ท่ามะพลา โมเดล"

นายธนากร จีนกลาง ผลงานด้านการแปรรูปยางพาราไร้กลิ่น เป็นผู้นำนวัตกรรมโรงอบยางพาราพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดมมาใช้ จนสามารถช่วยแก้ปัญหากลิ่นยาง

นายก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ ผลงานด้านนวัตกรรมสีย้อมจากธรรมชาติ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดค้นสีจากธรรมชาติ และแปรรูปของเหลือใช้ภาคเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์สี

ที่มา: มูลนิธิสัมมาชีพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ