สำหรับการหารือในวันนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนได้หารือถึงกำหนดการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2566 เพื่อลงนามในความตกลงระหว่างไทยและจีนทั้ง 3 ฉบับได้แก่ 1) พิธีสารผลิตภัณฑ์จากผึ้ง 2) ต้นสนใบพาย และ 3) ความตกลงในการแก้ไขพิธีสารสัตว์ปีก รวมทั้งการเดินทางไปต้อนรับขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเกษตรซึ่งจะเดินทางไทยไปยังนครเฉิงตู โดยฝ่ายจีนเห็นว่าทั้งสองกิจกรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตร และยินดีให้การสนับสนุนโดยจะแจ้งให้รัฐบาลจีนทราบต่อไป
นอกจากนี้ ในส่วนของความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมการเกษตรที่ฝ่ายจีนเชี่ยวชาญ การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ซึ่งฝ่ายไทยแสดงความสนใจด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีความต้านทานโรค เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม สำหรับการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร และฝ่ายจีนได้รายงานถึงความก้าวหน้าการขอเปิดตลาดโคมีชีวิต การผลักดันการนำเข้าสินค้า ณ ด่านท่าเรือกวนเหล่ย โดยฝ่ายจีนรับสินค้าเกษตรจากไทยอีกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ฝ่ายไทยมีสินค้าเกษตรมที่มีคุณภาพมาตรฐานอีกหลายชนิด ทั้งสินค้าพืช ประมง ปศุสัตว์ ที่พร้อมจะเปิดตลาดเข้าสู่จีน รวมถึงนักลงทุนของจีนได้มาลงทุนในไทยครอบคลุมในทุกสาขาและมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ทั้งสองฝ่ายจึงได้เห็นพ้องที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันโดยเฉพาะในด้านผลิตภัณฑ์ยางพารา
ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของไทย ในระหว่างปี 2563 - 2565 มีสัดส่วนสินค้าเกษตรร้อยละ 20.70 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรกับโลก โดยในปี 2563 มีมูลค่าสินค้าเกษตร 310,785 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2564 และ 2565 เป็นมูลค่า 447,403 ล้านบาท และ 498,694 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 418,916 ล้านบาท โดยมีอัตราการค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 26.67 ต่อปี ซึ่งฝ่ายไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนมาโดยตลอด
ที่มา: กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์