สจล. - ชุมชน เสนอ 2 ทางเลือก...อุโมงค์รถวิ่ง หรือ เสาเดี่ยวเกาะกลางมอเตอร์เวย์ ในโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

อังคาร ๒๘ พฤศจิกายน ๒๐๒๓ ๑๑:๑๖
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี และ รองศาสตราจารย์ สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน สจล. จัดประชุมหารือผลกระทบต่อชุมชน 5 เขต ในโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมเสนอข้อคิดเห็นทางวิชาการในการออกแบบ "อุโมงค์รถวิ่งใต้แนวถนน" (Road Tunnel) ยั่งยืนที่สุด รองลงมา คือ มอเตอร์เวย์ยกระดับ "แบบเสาเดี่ยวตรงเกาะกลาง" ประหยัดงบลงทุนและคุ้มค่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องเวนคืน ลดผลกระทบชุมชนเมืองและสิ่งแวดล้อม ได้ดีกว่า "แบบเสาบนเกาะกลางคู่ขนานทั้งสองฝั่ง" โดยมีประชาชนจาก 5 เขตเข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมแคแสด ตึกสำนักงานอธิการบดี สจล. ถนนฉลองกรุง

โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่าลงทุน 35,000 ล้านบาท ระยะทาง 18.5 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 5 เขต ได้แก่ เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตสะพานสูง และเขตลาดกระบัง โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รับโอนมาจากกรมทางหลวง (ทล.) เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ซึ่งเป็นโครงข่ายสำคัญที่เชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปยังภาคตะวันออก และท่าเรือแหลมฉบังในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งมุ่งบรรเทาปัญหาจราจรบริเวณทางเชื่อมเข้า - ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้าง ปี 2570 ใช้เวลา 3 ปี กำหนดแล้วเสร็จเปิดใช้งานปี 2573 ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการอยู่ในระหว่างการศึกษาการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ครั้งที่2 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 66 โดยจะใช้เวลาศึกษา 450 วัน สิ้นสุดวันที่ 4 ก.ย. 67

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึง การพัฒนาโครงสร้างคมนาคมขนส่งยุคใหม่ ควรคำนึงถึงความยั่งยืน คุณภาพชีวิต และส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนให้น้อยที่สุด และในแง่สถาปัตยกรรมการสร้างทางยกระดับแบบเสาคู่ขนานทั้งสองฝั่งถนนเป็นแบบที่ไม่เหมาะสม เพราะเสาและโครงสร้างขนาดใหญ่จะอยู่คู่กับประชาชนและประเทศไปยาวนาน หากจะทำทางยกระดับ ควรเป็น "แบบเสาเดี่ยวตรงเกาะกลาง" จะคุ้มค่ากว่า โดยเสากลางจะรองรับการจราจรทั้งขาไปและขากลับ ระหว่างก่อสร้างต้องกั้นพื้นที่เลนกลางไว้ และบริหารจัดการให้เหมาะสม อีกทางเลือกที่ดีและยั่งยืนที่สุด คือ ทำ "อุโมงค์รถวิ่ง" (Road Tunnel) ใต้แนวถนน ระยะความลึกกว่า 20 เมตร ซึ่งจะไม่ติดตอม่อสะพาน แม้จะแพงกว่า แต่แก้ปัญหาได้ยั่งยืน ไม่ต้องเวนคืน เส้นทางนี้เป็นภาพลักษณ์ของประเทศที่โชว์ศักยภาพแก่แขกบ้านแขกเมือง นักลงทุน ธุรกิจอุตสาหกรรม นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

รศ.สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพสิ่งแวดล้อม และทรัพย์สิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงการเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่าง "แบบเสาเดี่ยวตรงเกาะกลาง" กับ "แบบเสาบนเกาะกลางคู่ขนานทั้งสองฝั่ง" ว่า สจล. มีเจตนารมณ์ที่อยากจะเห็นโครงการคมนาคมขนส่งที่เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพในแง่ต้นทุน ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนและเกิดประโยชน์สูงสุด จะเห็นว่าความคุ้มค่าของการสร้างแบบเสาเดี่ยวตรงเกาะกลาง ช่วยประหยัดงบ เนื่องจากไม่ต้องเวนคืนที่ดิน ลดระยะเวลาของการก่อสร้าง ประหยัดงบประมาณได้มากกว่าการสร้างแบบเสาคู่บนเกาะกลางถนนทั้งสองฝั่ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3.5 หมื่นล้านสำหรับขนาด 3 เลน ขณะที่ แบบเสาเดี่ยวตรงเกาะกลาง จะใช้งบประมาณที่ประหยัดกว่าอยู่ที่ 2 - 2.5 หมื่นล้าน เท่านั้น

ผลกระทบจาก "แบบเสาบนเกาะกลางคู่ขนานทั้งสองฝั่ง" ลดมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ - ทรัพย์สิน โดยเสาของโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าจะบดบัง ทั้งอาคาร ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างทั้ง 2 ฝั่งข้างทาง อาทิ บ้านเรือน อาคารสำนักงาน อาคารพักอาศัยแนวดิ่ง (คอนโดมิเนียม) สถานศึกษา ก็จะไม่เห็นหน้าอาคารเลย รวมทั้งคุณค่าในด้าน Social Asset ของวัดและมัสยิดลดลง แม้ว่าจะสร้างให้งดงามเพียงใดก็ตาม อีกทั้งทำให้ทัศนียภาพเมือง มีทางลอยฟ้าที่พาดผ่านสองฝั่งถนน ด้อยค่าลงไป นับเป็นความเสียหายทางโอกาสและเศรษฐกิจอย่างถาวรตลอดสองฝั่งรวมระยะ 37 กิโลเมตร

ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต เนื่องจากการก่อสร้าง โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีระยะทาง 18.5 กม. หากเป็น "แบบเสาบนเกาะกลางคู่ขนานทั้งสองฝั่ง" ประชาชนและผู้อยู่อาศัย จะได้รับผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม ปริมาณฝุ่นควันสูง มลพิษทางอากาศ และมลพิษทางเสียง ทั้งระหว่างก่อสร้างที่ใช้เวลามากกว่าและหลังเปิดใช้งานจากการสัญจรของยวดยานไปมา เพราะแนวทางอยู่ชิดกับบ้านเรือนประชาชน หากสร้างเป็นแบบเสาเดี่ยวตรงเกาะกลาง จะช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้าง เพราะก่อสร้างแค่ทางเดียว และประหยัดงบประมาณกว่า 8,000 - 10,000 ล้านบาท สามารถรักษาทัศนียภาพเมืองให้คงเดิม ไม่เสียหายจากสิ่งปลูกสร้างอีกด้วย

ในด้านการจัดระบบการจราจรและการใช้งาน หาก กทพ. วางแผนการก่อสร้างแบบเสาเดี่ยวตรงเกาะกลาง ข้อดีของการวางเสาตรงกลางถนนมอเตอร์เวย์นั้น จะทำให้ผู้ใช้มอเตอร์เวย์ยกระดับเดินทางได้สะดวกมากขึ้น เข้า - ออกง่าย ปลอดภัยกว่าเพราะถนนวิ่งมาตรงกลางแล้วค่อยแยกออกไป การก่อสร้างสามารถคืนพื้นที่ได้เร็วกว่า เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถบริหารจัดการระบบการจราจรได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่า ขณะที่แบบเดิม "เสาบนเกาะกลางคู่ขนานทั้งสองฝั่ง" ประชาชนผู้ใช้งานจะเดินทางสัญจรลำบาก เนื่องจาก 2 ฝั่งถนนซ้าย - ขวาแยกออกจากกันโดยชัดเจน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้อาศัยริมสองฝั่งถนนถูกเวนคืนที่ดิน และกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบอีกด้วย

สจล.และที่ประชุมใหญ่รับฟังข้อคิดเห็นจาก 5 ชุมชน สรุปว่า การพัฒนาความเจริญ ต้องควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน การออกแบบต้องคำนึงถึงการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพิ่มปัญหา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ควรพิจารณาแบบการก่อสร้าง แบบ "อุโมงค์รถวิ่ง" (Road Tunnel) ใต้แนวถนน ที่เป็นประโยชน์สูงสุด และรองลงมา "แบบเสาเดี่ยวตรงเกาะกลาง" ซึ่งไม่ต้องเวนคืนที่ดินทั้ง 2 ข้างทาง โดย 2 แบบดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเมืองน้อยที่สุด ทั้งด้านมลพิษฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือน โดย กฤติยานันท์ กระแสร์ฉาย ให้ข้อคิดเห็นว่าได้เคยประชุมและลงชื่อแสดงความเดือดร้อนร่วมกันเป็นหมื่นชื่อ ประชาชนขอมาประชุมที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สจล. เพื่อให้สถาบันวิชาการได้มีส่วนร่วม และจำได้ว่าเคยมีตัวเลือกให้มีแบบเสาเดี่ยวกลาง แต่ตัวเลือกนั้นหายไป ภาพที่ปรากฏในข่าว กทพ.เป็นภาพ 2 เสาคู่ขนานชิดริมทางสองฝั่ง ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านโครงการก่อสร้างและความเจริญ แต่ต้องการให้ศึกษาผลกระทบและฟังเสียงชาวบ้าน เพราะออกมาสองข้างทางในแบบนี้ขอย้ำว่าไม่เห็นด้วย ไพบูลย์ มะหะหมัด ตัวแทนกลุ่มชาวมัสยิดดารุ้ลมูนีร ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเสาลอยฟ้าบนทางคู่ขนานสองข้างทาง บดบังมัสยิด และชุมชนมีปัญหาเรื่องมลภาวะ ที่ผ่านมา ได้เสียที่ดินเวนคืนไปแล้วให้มีถนนมอเตอร์เวย์ใช้ และหากจะให้เสียสละอีกรอบก็ไม่ยอม และไม่เห็นด้วย

ด้าน ผศ.สมเกียรติ ขวัญพฤกษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกายภาพ จราจร และความปลอดภัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ความเห็นว่า หากโครงการสร้างเสาบนเกาะกลางคู่ขนานทั้งสองฝั่ง จะเกิดมลภาวะทางเสียงเพิ่มเป็น 2 เท่า แต่หากแบบเสาเดี่ยวไปอยู่กลางถนน เสียงจะเบาลงเท่าตัว รวมถึงผลกระทบด้านฐานรากเป็นดินอ่อน หากสังเกตถนนที่วิภาวดีรังสิต ยังมีรอยลูกคลื่น เกิดจากผลกระทบดินอ่อน ส่วนมอเตอร์เวย์เป็นถนนเชื่อมระหว่างภูมิภาคซึ่งต้องใช้งบสูงในการซ่อมถนน หากไม่ซ่อมจะเห็นร่องรอยลูกคลื่นชัดเจน เช่น ตามถนน Local Road ในแถบลาดกระบัง ไม่มีงบซ่อมบำรุงรองรับ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง

ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ