นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวว่า สนท.ได้ประสานสำนักงานเขตคลองเตยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันจับ-ปรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้าบริเวณสุขุมวิท 26 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตั้งจุดจับ-ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณพื้นที่ หากตรวจพบผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดให้จับกุมและดำเนินคดีทันที รวมทั้งประสานความร่วมมือจัดทำเสากั้นรถจักรยานขับขี่บนทางเท้าและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อมระบบ AI ตรวจจับผู้กระทำผิดบริเวณดังกล่าว ขณะเดียวกัน สนท.ได้ดำเนินโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้า เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางเท้า โดยให้สำนักงานเขตบังคับใช้กฎหมาย ห้ามมิให้รถจอด หรือขับขี่บนทางเท้าโดยเด็ดขาด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 (2) แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และให้เจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจตรา กวดขัน เฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำผิด และตั้งโต๊ะจับ-ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณพื้นที่ที่มีผู้ฝ่าฝืนจำนวนมาก หรือในจุดซึ่งประชาชนร้องเรียนเป็นประจำ โดยให้พิจารณาดำเนินการในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างเดือน ก.ค.61 - 8 พ.ย.66 สามารถกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดได้จำนวน 55,552 ราย เปรียบเทียบปรับ เป็นเงิน 62,257,700 บาท
นอกจากนั้น กทม.ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทผู้ให้บริการรับ-ส่ง อาหารและสินค้า (Rider) เพื่อแก้ไขปัญหาพนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้า นำรถจักรยานยนต์มาขับขี่บนทางเท้า หรือฝ่าฝืนสัญญาณจราจรอันเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดย กทม.จะจัดส่งข้อมูลที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อมระบบ AI (Artificial Intelligence) ภาพผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า และอ่านหมายเลขป้ายทะเบียน พร้อมแยกประเภทของพนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้า ตามลักษณะการแต่งกายที่ปรากฏตามภาพให้บริษัท เพื่อให้บริษัทตรวจสอบและกวดขัน กำกับ ดูแล หรือดำเนินการตามความเหมาะสมไม่ให้พนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้ากระทำผิดกฎหมายซ้ำอีก หรือดำเนินการตามมาตรการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาพนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้านำรถจักรยานยนต์มาขับขี่บนทางเท้า หรือฝ่าฝืนสัญญาณจราจร อันเป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคมที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ
ที่มา: กรุงเทพมหานคร