BPP ส่งเสริม 'Sense of Ownership' บริหารธุรกิจระหว่างประเทศมูลค่าแสนล้าน

พฤหัส ๓๐ พฤศจิกายน ๒๐๒๓ ๐๘:๕๑
การเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวเข้าสู่การเติบโตที่ยั่งยืน มีหนึ่งพื้นฐานที่สำคัญ คือ การสร้าง "คน" ให้มีแนวคิดขับเคลื่อนการเติบโตของตัวเองไปพร้อมกับองค์กร เช่นเดียวกับบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ที่สามารถขยายพอร์ตธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายในระยะเวลา 3 ปีของ กิรณ ลิมปพยอม ที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากสินทรัพย์มูลค่า 5 หมื่นล้านบาทจนมาแตะระดับแสนล้านในปัจจุบัน ด้วยการขยายอาณาจักรธุรกิจใน 8 ประเทศทั่วโลก โดยใช้คีย์แมนคนไทยกลุ่มเล็ก ๆ ที่ผูกรวมการสร้างคุณค่าของตนเองกับองค์กรเป็นหนึ่งเดียว

"คนหรือบุคลากร เป็นกำลังสำคัญ ซึ่งเราเน้นที่การสร้าง 'Sense of Ownership' เชื่อหรือไม่ว่าพนักงานของ BPP หรือคีย์แมนของเราที่ช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าและเติบโตมีเพียงประมาณหลักสิบ แต่สร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะทุกคนช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน" กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

รู้สึกร่วมจาก 'Trust' ไว้ใจและเชื่อมือ

BPP เข้าใจในการจับคู่คนให้ถูกกับงาน ดึงจุดแข็งแต่ละคนมาสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเปิดโอกาสและส่งเสริมการทำงานของคีย์แมนในทุกตำแหน่ง (Empowerment) โดยในระยะหลัง BPPไว้วางใจให้คีย์แมนรุ่นใหม่รับมอบหมายงานที่สำคัญ อย่างเช่น การเป็นตัวแทนจากสำนักงานใหญ่ไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ที่ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญต่อการเติบโตของบริษัทฯ เพื่อให้ตัวพนักงานเองได้ปลดล็อกศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของให้เขาได้งัดเอาทั้งทักษะความชำนาญทางเทคนิค รวมทั้งทักษะการบริหารคนและสถานการณ์มาใช้ โดยมีความสำเร็จของงานเป็นเป้าหมายปลายทาง

ในครั้งที่หน่วยผลิตหนึ่งของโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) สปป.ลาว ซึ่ง BPP ถือหุ้นอยู่เกิดเหตุชำรุดและต้องหยุดแก้ไขเพื่อให้กลับมาผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิตให้ไวที่สุด เราจึงมอบหมายให้คีย์แมนที่เป็นวิศวกรไฟฟ้าของ BPP หนึ่งคนไปเข้าร่วมการบำรุงรักษาประจำปีกับทีมงานท้องถิ่น โดยนำประสบการณ์ด้านการทำงานร่วมกับผู้รับเหมาต่างชาติ ความรู้เชิงเทคนิคในการตรวจสอบ วิเคราะห์ และการซ่อมเครื่องไปแชร์กับทีมงาน ซึ่งช่วยทำให้การทำงานราบรื่นและรวดเร็วมากขึ้น โรงไฟฟ้าสามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตได้ตามปกติภายในกำหนดเวลา

นอกจากนี้ เรายังส่งคีย์แมนในแผนกบริหารสินทรัพย์ที่มีแพชชั่นในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในโรงไฟฟ้า ไปเรียนรู้และทำงานกับทีมงานท้องถิ่นที่โรงไฟฟ้าของ BPP ในสหรัฐฯ เพื่อทำงานเดิมที่เขาถนัด และงานที่ไม่ตรงกับสายงานวิศวกรรมเครื่องกลที่เขาเชี่ยวชาญ คือ งานด้านความยั่งยืน ที่เรามอบหมายให้เขาเป็นผู้ประสานงานในการจัดเตรียมและตรวจสอบข้อมูลทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความยั่งยืนของโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ รวมถึงการค้นหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตในโรงไฟฟ้าของเราที่นั่นได้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

"โรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ใน 2 ประเทศที่เราส่งคีย์แมนไป ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญในการสร้างกระแสเงินสดให้ BPP ที่สปป.ลาว เป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างส่วนแบ่งกำไรให้ BPP จำนวนมากในปีที่ผ่านมา สำหรับที่สหรัฐฯ นั้น เป็นโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้ามากที่สุดในปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้ให้ BPP มากที่สุดเช่นกัน ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท แต่ทำไมเราถึงกล้าส่งวิศวกรหนุ่มไปลุยงาน เพราะที่นี่เรายึดถือเรื่องความไว้ใจกันในการทำงาน ผมเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ มีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ และตั้งใจทำงานออกมาให้ดีที่สุด โดยที่ไม่ต้องคอยกำกับในทุกรายละเอียด แต่เปิดโอกาสให้ตัดสินใจภายใต้กรอบความรับผิดชอบ การได้รับมอบหมายงานที่สำคัญจะทำให้เขาได้เรียนรู้ และฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ เกิดความภาคภูมิใจในการทำงานที่สามารถสร้างคุณค่าให้ทั้งตัวเองและองค์กรไปได้พร้อม ๆ กัน" กิรณกล่าวถึงการเชื่อใจในศักยภาพของทีม

รู้สึกร่วมจากการ 'Connect' สื่อสาร เห็นภาพเดียวกันเสมอ

การสื่อสารใน BPP เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงอัปเดตความคืบหน้าแต่ยังเป็นการช่วยกันระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที ทัศนคติที่เชื่อว่าสามารถทำได้ (Can-do attitude) และความทุ่มเทของทีมที่บ่มเพาะจากการถ่ายทอดของผู้บริหารด้วยการเป็นแบบอย่าง (Role Model) ที่ดี เป็นส่วนสนับสนุนให้ BPP ก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ มาได้

"ถึงแม้คีย์แมนของเราส่วนใหญ่จะเป็นสายวิศวกรรม แต่ก็ปล่อยเครื่องจักรทำงานตามระบบอย่างเดียวไม่ได้ คนที่ทำหน้าที่ควบคุมต้องคุยกันเสมอ ผู้บริหารทุกระดับ หน่วยงานด้านวิศวกร หน่วยงานด้านบริหารสินทรัพย์ และหน่วยงานสนับสนุน ทุกคนต้องเห็นภาพสำเร็จเดียวกัน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถปิดดีลใหญ่ ๆ ได้สำเร็จ อย่างที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต้องทำงานจากที่บ้าน (WFH) 100% แต่เรายังสามารถปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐฯ มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทได้ นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในรอบหลายปีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุด ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรค ตราบใดที่มีความตั้งใจและความพยายาม"

ทั้งนี้ เป้าหมายของ BPP ในการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าให้ถึง 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 เราก็ต้องย้ำการสื่อสารอยู่อย่างต่อเนื่อง ให้ทุกคนเข้าใจและเห็นภาพใหญ่ร่วมกัน พร้อมใจจะไปให้ถึงได้ตามเป้า

รู้สึกร่วมจาก 'โอกาสดี ๆ' ที่สร้างประสบการณ์และเสริมความผูกพัน (Employee Experience & Engagement)

ไม่เพียงแต่การทำงานที่เข้มข้นด้วยการให้คุณค่าและสร้างความภาคภูมิใจ แต่ BPP ยังตั้งใจสร้างความสุขและความพึงพอใจให้คีย์แมน ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง เพื่อให้เกิดความผูกพันและอยากร่วมงานกันในระยะยาว

ทุกเดือน จะมีช่วงเวลาแห่งความผ่อนคลาย (Relax Session) ที่ทุกคนมาร่วมทานอาหารว่างกันแบบ สบาย ๆ 2-3 ครั้ง โดย CEO จะมาพูดคุยกับคีย์แมนว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทฯ บ้าง ในแง่มุมที่พวกเขาอาจจะยังไม่เคยทราบ ซึ่งเขาก็สามารถแสดงความคิดเห็นและสื่อสารกับ CEO ได้โดยตรง ช่วยลดช่องว่างการเข้าถึง และเพิ่มความเชื่อมั่นในผู้บริหาร รวมถึงเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในองค์กร

"ประสบการณ์ที่ดีไม่ควรเกิดขึ้นกับคู่ค้าหรือลูกค้าเท่านั้น แต่กับพนักงานที่เป็นคีย์แมน เราก็ต้องทำให้เกิดขึ้นทุกจุดที่เขาได้มีประสบการณ์ร่วมกับบริษัทฯ (Touchpoint) เช่นกัน เราให้เขามีส่วนร่วมในการออกแบบแผนพัฒนาตนเอง ที่ตอบโจทย์ทั้งการทำงานและความสนใจของเขาเองในหลากหลายรูปแบบ ในขณะที่วัฒนธรรมองค์กร "บ้านปู ฮาร์ท" ยังสามารถหล่อหลอมทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียว และมีความเคารพซึ่งกันและกัน จึงก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นกันเอง มีความร่วมแรงร่วมใจกันในการทำงาน เรายังปลูกฝังเรื่องการยอมรับความแตกต่างให้คีย์แมนทุกคน เพราะเขาต้องทำงานร่วมกับทีมงานในต่างประเทศที่ไม่เหมือนเราทั้งภาษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดพลังร่วมในองค์กร"

การสร้าง "คน" ให้มี 'Sense of Ownership' ความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าขององค์กรไม่ใช่เรื่องง่าย ความแตกต่างของอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริบทภายในของแต่ละองค์กร เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้วิธีการในการสร้างเรื่องดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จนั้น แตกต่างกันออกไป ซึ่งการค้นหาวิธีการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แม้จะต้องใช้ความทุ่มเท ความพยายาม และเวลา แต่ผลลัพธ์นั้นคุ้มค่าอย่างมหาศาล ดังเช่นผลสำเร็จของ BPP ที่ทุกคนมีจุดมุ่งหมาย (Purpose) เดียวกัน มองเห็นคุณค่าร่วมกัน และสร้างความยั่งยืนให้ทั้งคนและองค์กรไปด้วยกัน

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com

ที่มา: เอบีเอ็ม คอนเนค

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO