นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งกระทรวงมีบทบาทในการสนับสนุนการเพิ่มกำลังคนรุ่นใหม่เข้ามาในระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทยและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้สตาร์ทอัพเติบโต โดยดำเนินการผ่าน โครงการ Alpha Program ภายใต้ Startup Thailand League ร่วมกับหน่วยงานในภาคการศึกษาทั่วประเทศไทยกว่า 50 แห่ง เกิดการจดทะเบียนบริษัทจากทีมนักศึกษาที่เข้าร่วมกว่า 61 บริษัท คิดเป็นมูลค่าของเศรษฐกิจกว่า 100,000,000. (หนึ่งร้อยล้าน) บาท ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพของนักศึกษา เช่น CU Enterprise ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย M Venturer ของมหาวิทยาลัยมหิดล อ่างแก้วโฮลดิ้ง ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงไปใช้ในการประกอบธุรกิจ และกำลังผลักดันเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการจัดงาน NIA x depa VC NIGHT ในวันนี้ โดยเจ้าภาพหลัก คือ NIA และ depa ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร คือ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ TVCA และ Beacon Venture Capital เพื่อพัฒนาเครือข่ายนักลงทุนให้มีความเข้มแข็ง และส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย กิจกรรมนี้ทำให้ได้เห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่มีความพร้อมในการร่วมกันขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยพลังของนวัตกรรมและผู้ประกอบการเทคโนโลยี หรือสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทยให้แข็งแรงและสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ คือ การเห็นเป้าหมายเดียวกัน การทำงานประสานร่วมกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รับและส่งไม้ต่อกันอย่างสอดคล้อง ซึ่งแนวทางความร่วมมือรัฐกับเอกชนเพื่อพัฒนาตลาดในอนาคตที่ได้นำเสนอกันในวันนี้เป็นข้อเสนอสำคัญที่น่าสนใจ ซึ่งกระทรวง อว. จะนำไปผลักดันเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA มีเป้าหมายในการเป็นผู้กำหนดทิศทางและอำนวยความสะดวกทางการเงินนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านกลไกสนับสนุนด้านการเงินรูปแบบใหม่และเชื่อมต่อกับพันธมิตรด้านการเงินนวัตกรรม การลงทุน และตลาดนวัตกรรม เพื่อการเติบโตของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งในปีนี้มีการปรับโฉมกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการเงินสำหรับโอกาสการขยายตลาดและการลงทุน เช่น กลไกการสนับสนุนเงินทุนอุดหนุนรูปแบบใหม่ "Corporate co-funding" ร่วมกับกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) และ กิจกรรม Invest Startup Thailand ที่เน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพในประเทศไทยมากขึ้น เช่น การพัฒนาความรู้เรื่องการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Angel Investor) การพัฒนาเครือข่ายนักลงทุน (VC และ CVC) และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) รวมถึงการสร้างเวทีให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสนำเสนอแผนธุรกิจต่อนักลงทุนได้ ซึ่ง NIA หวังว่าการดำเนินงานเหล่านี้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้สตาร์ทอัพเติบโตสู่ตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ดีป้ามีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล และส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพด้วยกลไกต่าง ๆ โดยได้วางแผนการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เน้นสร้างกลไกส่งเสริมด้านเงินทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะการร่วมลงทุน (Co-Investment) และส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ทอัพสู่ระดับโลก นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อดึงดูดผู้มีทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านกลไก Global Digital Talent Visa และการสร้างตลาดให้กับดิจิทัลสตาร์ทอัพร่วมกับ BOI พัฒนามาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 100% ของเงินลงทุนและไม่จำกัดวงเงิน เมื่อซื้อสินค้าหรือบริการของดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีบริการดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการเติบโตของดิจิทัลสตาร์ทอัพ ให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ทอัพและการลงทุนในภูมิภาค
นายศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Thai Venture Capital Association: TVCA) เปิดเผยภาพรวมการลงทุนของไทยว่า สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนยูนิคอร์นน้อย ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจน้อยจึงไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่จะมาลงทุน ทำให้วนกลับมาที่ปัญหาการเกิดยูนิคอร์นน้อย แต่ในทางกลับกันวงจรความสำเร็จที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจะมีจำนวนสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมาก ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญร่วมกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม สามารถดึงดูดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น กล้ามาลงทุน และทำให้มีสตาร์ทอัพรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความร่วมมือจากภาครัฐอย่าง NIA และ depa จึงมีความจำเป็นและสำคัญมากที่จะเปลี่ยนปัญหาสู่ความสำเร็จได้ด้วย 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ความเสมอภาค (Equity) อย่างกลไกการสนับสนุนด้านเงินทุนของภาครัฐมีส่วนช่วยได้มาก จะเห็นตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จจากกลไกนี้ เช่น อิสราเอล และสิงคโปร์ จากประเทศที่ไม่มีอะไรกลายเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรื่องด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ และ 2) การศึกษา (Education) เราต้องเตรียมเด็กให้พร้อม สร้างองค์ความรู้ และประสบการณ์ในด้านธุรกิจ เมื่อจบมหาวิทยาลัยแล้ว จะสามารถตั้งสตาร์ทอัพของตัวเองได้ทันที
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์