ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิต บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บจก. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค เป็น 'AAA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

พฤหัส ๓๐ พฤศจิกายน ๒๐๒๓ ๑๖:๐๘
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) และ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ซึ่งเป็นบริษัทลูก เป็น 'AAA(tha)' จาก 'AA+(tha)' โดยแนวโน้มเครดิตของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ของ AIS และ AWN ที่ 'F1+(tha)'

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของ AIS หลังจากการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย ฟิทช์มองว่าการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่ออันดับเครดิต จากการเพิ่มการกระจายตัวของรายได้ของ AIS นอกเหนือจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งทำให้สถานะทางการตลาดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น และส่งเสริมการเติบโตของรายได้ และกำไรของบริษัทให้มีเสถียรภาพ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ฟิทช์คาดว่า AIS จะยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งหลังการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว โดยมี อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) อยู่ที่ 1.4 เท่า ในปี 2566 และ 2567 (2565: 1.0 เท่า)

แนวโน้มเครดิตที่มีเสถียรภาพสะท้อนการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า AIS จะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย อย่างต่อเนื่อง และมีกำไรที่แข็งแกร่ง โดยยังคงรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับระดับเครดิตปัจจุบันได้

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อันดับเครดิตของ AIS เท่ากับ AWN: อันดับเครดิตของ AIS และ AWN อยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนต่อบริษัทลูกในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) ในระดับสูง และแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนทางกฎหมาย (Legal incentive) ในระดับต่ำ ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria)  แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงสัดส่วนรายได้และสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มาจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของ AWN ซึ่งอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 93 และร้อยละ 73 ตามลำดับ ในปี 2565

ฟิทช์มองว่าโครงสร้างการบริหารและการใช้แบรนด์ร่วมกัน (Management and Brand Overlap) อยู่ในระดับสูง โดย AIS ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN ทำให้มีอำนาจควบคุมการดำเนินธุรกิจ และนโยบายด้านการเงินและการลงทุน นอกจากนี้ AWN มีการใช้แบรนด์สินค้าร่วมกันภายใต้แบรนด์ "AIS" สำหรับสินค้าและบริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และคอนเทนต์

การเข้าซื้อธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นผลดีต่ออันดับเครดิต: ฟิทช์มองว่า การเข้าซื้อกิจการ TTTBB สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ AIS ในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของกำไร การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะส่งผลให้ AIS สามารถเพิ่มการกระจายตัวของรายได้ ไปสู่การให้บริการโทรคมนาคมอื่น ๆ เช่น โทรทัศน์ และ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งทำให้สถานะทางธุรกิจของบริษัท ฯ แข็งแกร่งขึ้น ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 18 หลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7

การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะทำให้สถานะทางการตลาดของ AIS ปรับตัวดีขึ้น และกลายเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่อันดับที่สองในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 35 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 16 ในปี 2565 ซึ่งจะใกล้เคียงกับส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด ซึ่งได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณร้อยละ 38 นอกจากนั้น การเข้าซื้อ TTTBB ยังส่งผลให้ AIS สามารถเข้าถึงตลาดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนอกนอกเมืองใหญ่ ซึ่ง AIS มีเครือข่ายที่จำกัด และส่งเสริมสถานะทางการตลาดที่ AIS มีความแข็งแกร่งอยู่แล้วในเมืองใหญ่

การเติบโตที่สูงขึ้น: ฟิทช์คาดว่า AIS จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของสภาวะเศรษฐกิจไทย จากที่ค่อนข้างอ่อนแอในช่วงปี 2563-2565 ฟิทช์คาดว่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติของไทยจะเติบโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.8 ในปี 2567 หลังจากการเติบโตในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ที่ร้อยละ 1.9 กิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวน่าจะสนับสนุนให้รายได้ของ AIS เติบโต (ไม่รวมผลจากการเข้าซื้อกิจการ) ซึ่งฟิทช์คาดว่าน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 2-3 ต่อปี ในปี 2566 และ 2567 (9 เดือนแรกของปี 2566 เติบโตร้อยละ 2.3)

การแข่งขันที่ดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะได้รับประโยชน์จาก การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงน้อยลง ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) และรายได้โดยรวมของ AIS  อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยเริ่มมีสัญญาณการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้น จากการแข่งขันที่ลดลง หลังจากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในไตรมาสแรกของปี 2566 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมได้กลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างกำไร มากกว่าการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด โดยได้เริ่มลดการนำเสนอแพ็คเกจที่ใช้งานข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด อย่างต่อเนื่อง

อัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ของ AIS จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 เท่า ณ สิ้นปี 2566 หลังการเข้าซื้อกิจการ TTTBB เสร็จสิ้น (ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 อยู่ที่ 1.1 เท่า) โดยยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต แม้ว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับอันดับเครดิตจะปรับตัวลดลง ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินของ AIS จะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2567 และ 2568 จากกำไรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ผู้นำตลาด: ฟิทช์เชื่อว่า AIS จะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 48 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 47) นอกจากนี้สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจาก ขนาดธุรกิจและฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ ชื่อเสียงทางการค้าที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด    AIS ได้ขยายธุรกิจไปสู่การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยรายได้จากการให้บริการดังกล่าวมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ AIS มีความแข็งแกร่งกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'AA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ AIS และ ThaiBev มีสถานะทางธุรกิจในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นผู้นำในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ AIS มีการกระจายตัวของธุรกิจในด้านภูมิภาคที่น้อยกว่า ThaiBev แต่อันดับเครดิตภายในประเทศของ AIS อยู่ในระดับสูงกว่า ThaiBev อยู่สองอันดับเนื่องจาก AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ AIS อยู่เท่ากับอันดับเครดิตของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย AIS มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่ากว่า ปตท. เล็กน้อย โดย ปตท. มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวของธุรกิจมากกว่า AIS ซึ่งช่วยลดทอน ความผันผวนที่เกิดจากธุรกิจย่อยแต่ละธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมของ AIS มีความผันผวนน้อยกว่า นอกจากนี้  AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า โดยมีอัตราส่วน EBITDA Net Leverage อยู่ที่ระดับประมาณ 1.4 เท่า เมื่อเทียบกับ ปตท. ที่ระดับ 2 เท่า

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้จากการให้บริการเติบโตประมาณร้อยละ 3 ต่อปี ในปี 2566 และ 2567 เนื่องจากเศรฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและการแข่งขันที่ปรับตัวดีขึ้น
  • Operating EBITDA margin ที่ร้อยละ 42 ในปี 2566 (9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 42.3) ก่อนจะปรับตัวลงสู่ 38% ในปี 2567 หลังจากการเข้าซื้อกิจการ TTTBB ที่มีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ต่ำกว่า
  • เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2566 และ 2567 (ปี 2565 อยู่ที่ 2.78 หมื่นล้านบาท)
  • จ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 95 ของกำไร

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

AIS

ปัจจัยบวก

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจาก เป็นอันดับเครดิตภายในประเทศที่สูงที่สุดแล้ว

ปัจจัยลบ

  • EBITDA Net Leverage เพิ่มสูงกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท

AWN

ปัจจัยบวก

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจาก เป็นอันดับเครดิตภายในประเทศที่สูงที่สุดแล้ว

ปัจจัยลบ

  • การปรับลดลงของอันดับเครดิตของ AIS
  • แรงจูงใจในการสนับสนุนจาก AIS ต่อ AWN ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งฟิทช์มองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

สภาพคล่องและโครงสร้างหนี้

สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้: AIS มีหนี้จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือน นับตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายน 2566 ฟิทช์เชื่อว่าสภาพคล่องของ AIS อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ภายในประเทศเนื่องจากสถานะทางเครดิตที่ดี

เกี่ยวกับบริษัท: AIS เป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการร้อยละ 48 และเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ โดยมีลูกค้าจำนวน 2.2 ล้านราย บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงประมาณร้อยละ 16 บริษัท อินทัช โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) และ Singapore Telecommunication Limited (อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'A' แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ฯ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 40 และ 23 ตามลำดับ

อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น

อันดับเครดิตของ AWN อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของ AIS

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ