กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนชาวสวนยางภาคใต้ เฝ้าระวังโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราเพิ่มขึ้นช่วงมรสุม

ศุกร์ ๐๑ ธันวาคม ๒๐๒๓ ๑๐:๕๐
นายรพีทัศน์  อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่รายงานว่าขณะนี้ประเทศไทยยังคงถูกปกคลุมด้วยมวลอากาศเย็น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่เผชิญกับมรสุม ทำให้มีฝนตกหนักและหนักมากในบางพื้นที่ รวมทั้งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนให้พี่น้องเกษตรกรที่เผชิญกับภาวะอากาศเย็น ชื้นและมีฝนทุกพื้นที่เฝ้าระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา ปัตตานี ตรัง พังงา สตูล พัทลุง นครศรีธรรมราช และจังหวัดระนอง ในระยะนี้ควรเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราไปยังจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากมีแนวโน้มการระบาดที่เพิ่มขึ้น มักพบโรคดังกล่าวระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง และเชื้อราสาเหตุสามารถแพร่กระจายโดยลม ฝน การเคลื่อนย้ายกล้าพันธุ์หรือวัสดุปลูกในแปลงที่เกิดโรค และมีพืชอาศัยค่อนข้างกว้าง เช่น วัชพืช สมุนไพร พืชผักสวนครัว ไม้ผลบางชนิด และพืชจำพวกเฟิน เป็นต้น ทำให้เชื้อสาเหตุสะสมอยู่ในสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น เกษตรกรจึงควรหมั่นสังเกตเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรค รวมถึงศึกษาแนวทางป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารา เกิดขึ้นในใบแก่ เริ่มแรกจะเกิดรอยช้ำค่อนข้างกลมบริเวณใต้ใบ ผิวใบด้านบนบริเวณเดียวกันเป็นสีเหลือง และขยายใหญ่ขึ้นเป็นสีคล้ำขอบแผลดำ จนกลายเป็นเนื้อเยื่อแห้งสีน้ำตาลถึงขาวซีด รูปร่างแผลค่อนข้างกลม รอบแผลไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบ มีจำนวนจุดแผลมากกว่า 1 จุด อาจเจริญลุกลามซ้อนกันเป็นแผลขนาดใหญ่ ระยะรุนแรงใบเหลืองและร่วงในที่สุด  กรณีเกิดการเข้าทำลายของเชื้อรารุนแรงอาจเกิดอาการแห้งตายจากยอดได้ รวมถึงอาจทำให้ใบยางพาราร่วงในขณะที่อาการของจุดแผลบนใบยังไม่พัฒนาเป็นเนื้อเยื่อซีดขาว วิธีป้องกันกำจัด ควรหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกชุก หากพบต้นยางพารามีทรงพุ่มไม่สดชื่น ใบร่วง ให้ตรวจสอบอาการของโรคบนใบ หลีกเลี่ยงการนำกล้ายางพาราหรือวัสดุปลูกจากแหล่งที่พบการระบาดสู่พื้นที่ หมั่นทำความสะอาดสวนกำจัดวัชพืช และเสริมความแข็งแรงให้ต้นยางพาราโดยใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใส่ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตของยางพาราด้วย กรณีพบโรคแล้วให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหว่านหรือพ่นในสวน การหว่านให้ใช้อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม และรำ 4 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับการพ่น ใช้อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมน้ำหรือน้ำหมักชีวภาพ อัตรา 200 ลิตร โดยหว่านหรือพ่นให้ครอบคลุมใบยางพาราที่ร่วงหล่นทั่วทั้งสวน ทุก 3 เดือน เพื่อควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคที่สะสมอยู่ในดิน ซึ่งการใช้เชื้อสดผสมปุ๋ยอินทรีย์หรือน้ำหมักชีวภาพจะช่วยบำรุงให้ต้นยางพาราแข็งแรงขึ้น หากจำเป็นต้องพ่นสารเคมีกำจัดโรคควรใช้ตามคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทยและกรมวิชาการเกษตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ ไดฟีโนโคนาโซล + โพรพิโคนาโซล 15%+15% W/V EC อัตรา 15 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร คาร์เบนดาซิม 50% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร โพรคลอราซ 45% W/V EW อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ 2 มิลลิลิตร โดยฉีดพ่นพุ่มใบยางพาราจากใต้ทรงพุ่ม อัตรา 150-200  มิลลิลิตร/น้ำ 200 ลิตร/ไร่ ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 10-15 วัน ทั้งนี้ ควรเริ่มพ่นเมื่อยางพาราแตกใบใหม่หลังฤดูกาลผลัดใบปกติและใบอยู่ในระยะเพสลาด ตลอดจนคำนึงเรื่องการใช้ระบบกรีดยางตามคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด

ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO