จึงเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ประเภท การเงินและสวัสดิการชุมชน ปี 2566 ที่มอบโดยมูลนิธิสัมมาชีพ
สถาบันการเงินชุมชนแห่งนี้ยังโดดเด่นด้าน "ระบบการบริหารจัดการ" โดยสร้าง "การมีส่วนร่วม" และแบ่งบทบาทการทำงานฝ่ายต่างๆ อย่างชัดเจน นำระบบโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นระบบข้อมูลสมาชิก ระบบบัญชี การเงิน ทำให้การบริหารมีความโปร่งใส ตรวจสอบข้อมูลทางการเงินได้วันต่อวัน สร้างความน่าเชื่อถือให้กับสมาชิก
ในส่วนของเงินทุนที่มี ก็นำมาสร้างรายได้อื่นๆ ต่อ เช่น ร้านค้าชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ
นอกจากนี้ ยังนำเงินส่วนหนึ่งแบ่งปันให้กับสาธารณะประโยชน์ รวมถึงผู้ด้อยโอกาส
"ผู้บริหาร กรรมการ รวมถึงสมาชิก รู้สึกยินดีที่ได้รับรางวัลนี้ เราไม่คาดหวังมาก่อนว่าจะได้รับเกียรตินี้
สำหรับเงินรางวัลที่ได้ ทางกลุ่มจะนำไปพัฒนาการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็ง เช่น นำไปต่อยอดหารายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงให้สวัสดิการสมาชิกเพิ่มเติม" เสาวลี โสวณา พนักงานบัญชีและกรรมการฝ่ายเงินกู้ของสถาบันการเงินชุมชนบ้านดอน กล่าว
ผู้แทนของสถาบันการเงินชุมชนบ้านดอนยังเล่าถึงพัฒนาการของสถาบันการเงินชุมชนบ้านดอนว่า เดิมทีในปี 2541 ทางกลุ่มได้จัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เพื่อส่งเสริมการออม สร้างวินัยทางการเงิน และสร้างเงินทุนประกอบอาชีพ
เริ่มจากมีสมาชิก 50 คน มีเงินทุน 4,040 บาท ก่อนจะ "ยกระดับ" เป็นสถาบันการเงินชุมชน ในปี 2549 ปัจจุบัน (พ.ย. 2566) ทางกลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียน 36 ล้านบาท (ไม่มีหนี้เสีย) มีสมาชิกเงินฝากประจำ 380 คน และสมาชิกเงินฝากพิเศษ 1,110 บัญชี
ในส่วนของบริการธุรกรรมการเงิน สถาบันการเงินชุมชนแห่งนี้ จะให้บริการ ฝากเงิน ถอนเงิน ให้สินเชื่อ โอนเงิน เติมเงินโทรศัพท์ ชำระค่าไฟฟ้า รวมถึงจัดสวัสดิการให้สมาชิกในทุกช่วงของชีวิต เช่น คลอดบุตร, สูงอายุ, เจ็บป่วย เป็นต้น
"พื้นที่ (หมู่ 2 ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง) เมื่อก่อนไม่มีธนาคาร ถ้าคนในชุมชนจะฝาก-ถอน ขอสินเชื่อต้องเดินทางไปถึง 8 กิโลเมตรกว่าจะถึงตัวเมือง การตั้งสถาบันการเงินชุมชนทำให้สมาชิกไม่ต้องเดินทางไกล และยังเป็นการส่งเสริมการออมเงินของคนในชุมชน" เสาวลี กล่าว
หนึ่งในระบบบริหารจัดการที่โดดเด่น "เสาวลี" เล่าว่า สถาบันการเงินชุมชนบ้านดอน ได้นำระบบ "บัตรสวัสดิการสมาชิก" มาใช้แทนการรับเงินปันผลเป็นเงินสด นับเป็นสถาบันการเงินชุมชนที่แรกและที่เดียวที่นำระบบนี้มาใช้ โดยบัตรสวัสดิการสมาชิกสามารถใช้ซื้อสินค้าในร้านค้าชุมชนและบริการต่างๆ ของสถาบันการเงินชุมชนบ้านดอน เช่น ชำระค่าน้ำดื่ม ค่าไฟฟ้า เติมเงินโทรศัพท์ ทำให้เงินยังคงหมุนเวียนในชุมชน
"บัตรสวัสดิการสมาชิกนี้ ถ้าสมาชิกนำไปซื้อสินค้าในร้านค้าชุมชน หรือบริการต่างๆ ในชุมชน ก็จะได้รับเงินปันผลต่อที่สอง ตามยอดการซื้อ ซื้อมาก-ได้มาก
พร้อมกับได้รับประโยชน์จากกิจกรรมส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม ชิงรางวัล ชิงสร้อยคอทองคำ ข้าวสาร ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับสมาชิกให้นำบัตรสวัสดิการฯ มาซื้อสินค้ากับร้านค้าชุมชน ทำให้กำไรไม่รั่วไหลออกไปนอกชุมชน"
ในส่วนของระบบการบริหารจัดการ มี "โครงสร้างคณะกรรมการ" และ "คณะทำงาน" ผ่านกลไกการมีส่วนร่วม โดยกำหนดให้มีการประชุมกรรมการทุกเดือน และมีการประชุมสมาชิกปีละ 2 ครั้ง (กลางปี-ปลายปี) ขณะที่การติดตามงานจะใช้แอพพลิเคชันไลน์ ใช้ระบบโปรแกรมสำเร็จรูปจัดทำข้อมูลและระบบบัญชีการเงิน ตรวจสอบได้อย่างชัดเจน มีการทำประกันอัคคีภัย คณะกรรมการมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อครบวาระ ผู้จัดการต้องมาจากคนมีประสบการณ์ที่คณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับการวางระบบการบริหารจัดการที่ดี ขับเคลื่อนโดยระบบ ไม่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล "เสาวลี" เล่า
นอกจากนี้ สถาบันการเงินชุมชนบ้านดอน ยังหารายได้เสริม ไม่เฉพาะการตั้งร้านค้าชุมชน บริการท่องเที่ยวโดยรถราง พาชมแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนเท่านั้น สถาบันการเงินยังดำเนินธุรกิจโรงน้ำดื่ม โครงการประปาหมู่บ้าน และเชื่อมโยงกับชุมชนอื่นๆ นำสินค้าซึ่งกลุ่มเหล่านั้นผลิต เช่น ไม้กวาด พวงหรีด ดอกไม้จันทน์ มาจำหน่ายในร้านค้าชุมชน สนับสนุนการเงินผ่านกองทุนให้กับกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ เช่น กองทุนแม่บ้านผลิตจิ๊นส้ม (แหนม) กองทุนแม่บ้านผู้สูงอายุ กองทุนกีฬา กองทุนวัดบ้านกองทุนพัฒนาชุมชนและสาธารณประโยชน์ เป็นต้น
ผลลัพธ์การดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว ส่งผลให้สมาชิกมีเงินออมเพิ่มขึ้น มีหนี้สินลดลง ประเมินจากยอดการขอสินเชื่อ จากเดิมสมาชิกจะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินชุมชนบ้านดอน เฉลี่ยปีละ 10 ล้านบาท ขณะนี้ลดลงเหลือเฉลี่ยปีละ 6 ล้านบาท สะท้อนว่าสมาชิกมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นเป็นลำดับ "เสาวลี" ให้ข้อมูล
และนี่คือความสำเร็จของสถาบันการเงินชุมชนบ้านดอน เมื่อชุมชนมีการออมต่อเนื่อง ทำให้ภาระหนี้ภาพรวมของชุมชนลดลง ทั้งยังมีงาน มีรายได้ที่ดีขึ้น
ผลงานที่เกิดประโยชน์แก่สมาชิก ชุมชน และสังคม จึงเหมาะที่จะเป็น "ต้นแบบ" ขยายผลไปสู่วิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มอื่นๆ และขยายผลเป็นสัมมาชีพเต็มพื้นที่อย่างแท้จริง
ที่มา: มูลนิธิสัมมาชีพ