รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์(มวล.) เปิดเผยว่า จากวิกฤติการณ์ที่เคยขึ้นในช่วงที่โรคระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย ที่หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์โดยสำนักวิชาการจัดการ เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงร่วมกับมูลนิธิเกาะสีเขียว สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอำเภอเกาะสมุย และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุยยั่งยืน อำเภอเกาะสมุยจังหวัดสุราษฎร์ธานี มทร.ล้านนา วิทยาเขตพิษณุโลก มรภ.สุราษฎร์ธานี ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนบนเกาะสมุย ภายใต้การสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนในเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชน มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเอง สร้างความยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจชุมชน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยของมวล.และเครือข่ายได้นำองค์ความรู้สมัยใหม่ลงไปพัฒนาต่อยอดการผลิตภัณฑ์ของชุมชนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากปลิงทะเลและน้ำมะพร้าว เช่น บิวตี้เจลลีปลิงทะเล กัมมี่เจลลีน้ำมะพร้าว สเปรสมะพร้าว ปลาเส้นสอดไส้ปลิงทะเลและไข่มุกแห่งสมุย ซึ่งผ่านกระบวนการทดสอบจากผู้บริโภคและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ก่อนดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและแปรรูปให้กับวิสาหกิจชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์และแบรนด์เพื่อสื่อสารการตลาด การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลิงทะเล การปลูกหญ้าทะเลเพื่อเป็นแหล่งอาหารสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก เชื่อมโยงสู่กระบวนการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การขับเคลื่อนการตลาดนำการผลิตมุ่งเน้นเครือข่ายคุณค่า การจัดการต้นทุน การจัดการความรู้ การฝึกอบรมและพัฒนาสมาชิกวิสาหกิจให้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สามารถเป็นต้นแบบให้กับวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ได้
ด้านนายพงษ์พันธ์ กรวยทอง ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการอนุรักษ์หญ้าทะเลที่นอกจากจะเป็นอาหารของปลิงทะเลแล้ว ยังมีผลพลอยได้ในเรื่องของการดูดซับคาร์บอนไดออกไซค์ ที่ถูกปล่อยจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ทำให้เกาะสมุยเกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวของมวล.ตอบโจทย์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถทำให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของกฟผ.ด้วย
ที่มา: มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์