สคร.12 สงขลา เตือน ระวังโรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย เน้นย้ำ โดนสัตว์ข่วน-กัด ให้รีบพบแพทย์ แนะ ยึดหลัก 3 ป.

พฤหัส ๐๗ ธันวาคม ๒๐๒๓ ๐๙:๓๖
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เตือนประชาชน ระวัง  "โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย" แนะยึดหลัก 3 ป. ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า    

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า จากระบบรายงานเฝ้าระวังโรค 506 ปีพ.ศ. 2561 - 2566 ประเทศไทยพบผู้ป่วย 34 ราย (ปี 66 พบ 5 ราย) เสียชีวิตทั้ง 34 ราย สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 ข้อมูลปี 2561 - 2566 พบผู้ป่วย 6 ราย (ปี 66 พบ 1 ราย) เสียชีวิตทั้ง 6 ราย เป็นเพศชายทั้งหมด อายุระหว่าง 16 - 65 ปี โดยมีประวัติโดนสุนัขของตนเองและสุนัขไม่มีเจ้าของกัด ผู้เสียชีวิตไม่ฉีดวัคซีนหลังโดนสุนัขกัด

โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies virus) จากการถูกสัตว์เลือดอุ่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีรอยแผล รอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์นำโรคที่สำคัญ คือ สุนัข แมว และอาจพบในสัตว์อื่น ๆ เช่น กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี หนู ลิง โค เป็นต้น จะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 15 - 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี อาการเริ่มแรก คือ ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคันบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น นอกจากนี้จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง มีอาการกลืนลำบาก ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตภายใน 2-7 วันนับจากวันเริ่มแสดงอาการ     

นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวว่า สคร.12 สงขลา ห่วงใยพี่น้องประชาชน แนะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ยึดหลัก 3 ป. ปอที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค โดยการนำสัตว์ไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์มีอายุ 2-4 เดือน และกระตุ้น 1 ครั้ง เมื่ออายุ 6 เดือนถึง 1 ปี หรือตามที่แพทย์นัด และปีถัดไปฉีดกระตุ้น ปีละ 1 ครั้ง ทุกปี หากสัตว์เลี้ยงตายผิดปกติ ขอให้แจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ ปอที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดด้วยคาถา 5 ย. คือ 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกิน และ 5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ ปอที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด หากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมข่วน/กัด/ สัมผัสน้ำลายเข้าทางบาดแผล หรือผิวหนังที่มีรอยถลอก หรือถูกเลียที่เยื่อบุปาก จมูก ตา ให้การล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และสบู่ อย่างเบามือ โดยให้น้ำไหลต่อเนื่องอย่างน้อย 15 นาที จากนั้น ใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด

ทั้งนี้ เมื่อถูกสัตว์ กัด ข่วน เลีย โดนรอยแผล จะต้องรีบไปรับวัคซีนทันที เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้า จึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทุกราย เน้นย้ำ "ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ" หากสัตว์ตายผิดปกติควรส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ที่มา: สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม