รศ. ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า "Disruptive technology ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งการดำเนินชีวิต ธุรกิจ อุตสาหกรรม AI, Generative AI, ChatGPT, IoT ฯลฯ คือสิ่งที่เกิดขึ้นและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกัน บุคลากรก็ต้องได้รับการพัฒนาและเท่าทันกับนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนไป เราต้องเข้าใจว่านวัตกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องมือช่วยทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บทบาทสำคัญของสถาบันการศึกษาคือการสร้างบุคลากรคุณภาพให้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นและความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม การเรียนรู้แบบ Block Modular คือการเรียนเป็นชุดวิชาที่ผู้เรียนจะได้รับทักษะและความรู้แบบเบ็ดเสร็จในชุดวิชา เมื่อผู้เรียนผ่านการเรียนในแต่ละมอดูลจะได้รับสัมฤทธิบัตร (Certificate) เพื่อแสดงสมรรถนะในด้านนั้นๆ เพื่อเป็นใบเบิกทางในการประกอบอาชีพ โดยรูปแบบการเรียนนี้จะเกิดผลลัพธ์ ตรงตามวัตถุประสงค์ หากสถาบันการศึกษาสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจหรือผู้เชี่ยวชาญภายนอกเสริมทักษะ ความชำนาญและประสบการณ์ ถ่ายทอดให้กับผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาของคณะ ข้ามคณะฯ หรือผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มเติมความรู้ สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับทุกๆ ฝ่าย สถาบันการศึกษามีหลักสูตรที่แข็งแกร่งมีคุณภาพ มีผู้เชี่ยวชาญผลัดเปลี่ยนมาให้ความรู้และร่วมสร้างหลักสูตร ผู้ประกอบการได้ถ่ายทอดทักษะและมองหาบุคลากรคุณภาพ และเหนือสิ่งอื่นใด ผู้เรียนได้รับการถ่ายทอดและบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจ ทำให้สามารถเลือกอาชีพของตนเองได้"
ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ประธานหลักสูตรการประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มทส. กล่าวว่า มทส. มีความมุ่งมั่นที่จะสร้าง "ผู้ประกอบการวิศวกรรม" ด้วยการผสานองค์ความรู้ด้าน วิศวกรรม ธุรกิจ และดิจิทัลเทคโนโลยี บนหลักสูตร "วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล" หลักสูตรฯ ที่เกิดจากความร่วมมือของ มทส. และพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ ความคิดริเริ่ม เพิ่มทักษะของการเป็นผู้ประกอบการด้านวิศวกรรมที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความพร้อมในการเผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ภายใต้หลักสูตรนี้ผู้เรียนจะได้รับความรู้และทักษะในด้านวิศวกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยองค์ความรู้แบบสหวิทยาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยมี บริษัท อัลทอส คอมพิวติ้ง จำกัด ที่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล และแพลตฟอร์ม AI ร่วมในการพัฒนาหลักสูตรและถ่ายทอดความรู้ในด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่ IT Infrastructure, Machine Learning, Deep Learning และ AI ด้วยเนื้อหาการสอนที่เน้นทักษะการทำงานได้จริง มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานต่อยอดในการทำงาน
นางสาวณัฐวรรณ ตะเภาน้อย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อัลทอส คอมพิวติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ผู้ประกอบการวิศวกรรม" ควรต้องมีขีดความสามารถและความพร้อมที่จะควบคุม พัฒนา จัดระเบียบ และบริหารจัดการธุรกิจที่มีแนวคิดทางวิศวกรรม และบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างผลกำไร สร้างรูปแบบบริการใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ รวมถึงความเข้าใจและรู้เท่าทันไม่ว่าจะเป็น AI, Cloud, Machine Learning, Deep Learning หรือ แม้แต่นวัตกรรมเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งทางอัลทอสมีประสบการณ์ในการพัฒนาโซลูชั่นต่างๆ รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรและลูกค้ามากมายทั่วโลกทำให้เราเข้าใจและสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย นักเรียน ผู้ประกอบการ ที่ต้องการเรียนหลักสูตรนี้"
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นหลักสูตรพัฒนาทักษะความรู้ด้านวิศวกรรม ผนวกความรู้ด้านธุรกิจการเงิน และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จัดการเรียนการสอนรูปแบบ Block-Modular Program มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะบนพื้นฐานและแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมหลักสูตร Entrepreneurship เพื่อต่อยอดทักษะความรู้ที่ได้รับสู่ธุรกิจใหม่ให้กับผู้เรียนในฐานะ "ผู้ประกอบการ" หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เปิดรับสมัครนักศึกษาในระบบ TCAS แบบ Portfolio ประจำปีการศึกษา 2567 สมัครผ่านทางเว็บไซต์ http://sutgateway.sut.ac.th ตั้งแต่วันนี้ - 20 ธันวาคม 2566 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dte.sut.ac.th/ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 - 4422 - 4536
ที่มา: อัลทอส คอมพิวติ้ง