นายอาชิช ปาเตล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเชื้อพันธุกรรมพืชตระกูลพริกและมะเขือเทศ เขตเอเชียแปซิฟิค บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "การขยายสถานีวิจัยฯครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้สามารถรองรับการขยายงานวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้น โดยเราได้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยในงานปรับปรุงพันธุ์พืช ค้นหาลักษณะทางพันธุกรรมใหม่ๆที่ดี มีความต้านทานต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความต้านทานต่อแมลงและโรคพืช เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ให้ได้ผลผลิตดี มีพืชผักที่มีคุณภาพส่งต่อไปยังผู้บริโภค"
สถานีวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ผัก ของซินเจนทา อยู่ที่ตำบลบ้านโคกใหญ่ อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการปรับปรุงพันธุ์ผัก ได้แก่ มะเขือเทศ แตงโม และพริก โดยมุ่งเน้นที่ตลาดอาเซียนเป็นหลัก มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทีมงานที่สถานีวิจัยฯ และทีมผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้า ซึ่งได้จัดสร้างพื้นที่สำนักงาน ห้องเย็นจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ในระยะยาวและระยะสั้น รวมถึงห้องปฏิบัติการวิจัยที่ได้มาตรฐานเพื่อรักษาความปลอดภัยของเชื้อพันธุกรรม และเพื่อรองรับโครงการวิจัยและทีมวิจัยของอาเซียน
นอกจากนี้ สถานีวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ผัก จังหวัดขอนแก่น ยังเพิ่มขอบเขตงานวิจัยของพืชเพิ่มเติม ได้แก่ ข้าวโพดหวาน แตงกวา และได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ผักให้ครอบคลุมตลาดในเขตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอฟริกา อเมริกาเหนือ และยุโรป อีกทั้งยังเป็นสถานีวิจัยที่สำคัญ มุ่งเน้นงานพัฒนาเมล็ดพันธุ์ พืชตระกูลแตง จากโปรแกรมปรับปรุงพันธุ์ทั่วโลก อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 19 ปี บริษัทดำเนินงานอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดโลก ส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น ร่วมมือกับชุมชนในท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเกษตรส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร
"เราเชื่อว่าความมุ่งมั่นในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ผักของเราไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ต้องเจอกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่การขยายสถานีวิจัยฯครั้งนี้ ยังสามารถทำให้เราเป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดสำหรับสถานีวิจัยเมล็ดพันธุ์ผักสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารที่ยั่งยืน และเสริมสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีคุณภาพออกสู่ตลาดโลกอีกด้วย" นายอาชิช ปาเตล กล่าวเสริม
ที่มา: 124 คอมมิวนิเคชันส คอนซัลติ้ง