วันที่ 8 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 - 10.15 น. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีโอกาสต้อนรับการมาเยือนของ H.E. Mr. Vuong Dinh Hue ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้แทนระดัยสูงจากสถานเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย และผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับ ณ ห้องรับรอง หอประชุมจุฬาฯ หลังจาก H.E. Mr. Vuong Dinh Hue ลงนามในสมุดเยี่ยมแล้ว ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ มอบของที่ระลึกแก่ H.E. Mr. Vuong Dinh Hue และถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน
ในโอกาสนี้ H.E. Mr. Vuong Dinh Hue ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม บรรยายพิเศษ ณ Hall of Intania คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในหัวข้อ "เสริมสร้างความผูกพัน ความไว้วางใจ และความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เวียดนาม-ไทย เพื่ออนาคตร่วมแห่งสันติภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนาที่ยั่งยืน" (Strengthening Viet Nam-Thailand engagement, trust and strategic partnership for a common future of peace, cooperation and sustainable development) โดยมี ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต้อนรับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวขอบคุณ จากนั้นถ่ายภาพหมู่ที่ระลึกร่วมกัน
ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะจากต่างประเทศซึ่งเป็นผู้นำที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาทิ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (29 ตุลาคม 2539) บิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (26 พฤศจิกายน 2539) เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแฟริกาใต้ (17 กรกฎาคม 2540) สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส (22 พฤศจิกายน 2562) เป็นต้น
H.E. Mr. Vuong Dinh Hue นอกจากจะดำรงตำแหน่งประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามแล้ว ยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองนายกรัฐมนตรี ฯลฯ อาทิ ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามสมัยที่ 15
การบรรยายพิเศษของ H.E. Mr. Vuong Dinh Hue ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจด้านความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามและไทย เพื่อสร้างสันติภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่ประเทศไทยและเวียดนามเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (The National Center for Social Sciences and Humanities) สภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเวียดนาม (Vietnamese Academy of Science and Technology) และมหาวิทยาลัยหลายแห่งในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีนิสิตเวียดนามศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระดับต่าง ๆ ทั้งในหลักสูตรปกติและหลักสูตรนานาชาติมากเป็นอันดับ 5 ของนิสิตต่างชาติที่ศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนทุนการศึกษา ได้แก่ ทุน Asean และ Non-Asean แก่นิสิตเวียดนาม รวมทั้งนิสิตต่างชาติเข้าศึกษาในระดับต่าง ๆ โดยตั้งแต่ปี 2562 - 2566 จุฬาฯ ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตต่างชาติจำนวน 1,052 คน จาก 56 ประเทศ เป็นนิสิตจากเวียดนาม 104 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 โดยเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์มากที่สุดจำนวน 22 คน ในปี 2566 มีนิสิตเวียดนามได้รับทุน Asean และ Non-Asean จำนวน 29 คน ทั้งนี้จุฬาฯ ยังได้จัดสรรทุน C2F Postdoc ซึ่งเป็นทุนนักวิจัยหลังปริญญาเอกศักยภาพสูง โครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 เพื่อทำงานวิจัยคุณภาพสูงในวารสารวิชาการนานาชาติระดับ Tier 1 ในปีงบประมาณ 2562 - 2566 มีนักวิจัยชาวเวียดนามได้รับทุนจำนวน 20 คน ใน 5 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 13 คน คณะสัตวแพทยศาสตร์ 3 คน วิทยาลัยประชากรศาสตร์ 2 คน คณะวิทยาศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ คณะละ 1 คน ปัจจุบันมีนักวิจัยจากเวียดนามที่รับทุน C2F Postdoc จำนวน 8 คน
ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย