นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมี่ยมชั้นนำของไทย อาทิ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับรางวัล "Supply Chain Initiative of the Year" จากเวที Asian Export Awards 2023 ประเทศสิงคโปร์ จัดโดย Manufacturing Asia Magazine นิตยสารชั้นนำที่มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งรางวัลนี้จะมอบให้กับผู้ประกอบการที่สามารถยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจนประสบความสำเร็จด้านการส่งออกในระดับภูมิภาค
"รางวัล Supply Chain Initiative of the Year เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ในความเป็นอาชีพด้านการส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมี่ยม โดยจุดเด่นที่ทำให้ได้รับรางวัลมาจากความสามารถในการก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญของธุรกิจส่งออกผลไม้ที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสภาพอากาศที่มีผลต่อความสดและรสชาติ โดยเฉพาะ "ทุเรียน" ที่มีความอ่อนไหวสูง โดยความสำเร็จนี้มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.Knowledge & Knowhow ที่เข้าใจถึงธรรมชาติทุเรียน 2.ความร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานตลาดโลก 3.ควบคุมคุณภาพตลอด value chain ของการขนส่ง โดยเป็นบริษัทส่งออกผลไม้สดของไทยรายแรกๆ ที่ลงทุนใช้นวัตกรรมการควบคุมอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้า ร่วมกับการมีฐานข้อมูลของตลาดผู้ซื้อปลายทาง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีอุณหภูมิ มี Shelf life และความชื่นชอบในรสชาติ หรือ คุณภาพของผลไม้ที่แตกต่างกัน ซึ่งบริษัทฯ จะนำมาประมวลและบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์เพื่อให้การส่งออกผลไม้มีประสิทธิภาพสูงสุด คงความสดใหม่ได้ตามรสชาติที่ผู้ซื้อปลายทางต้องการ" นายณธกฤษ กล่าวเสริม
บทพิสูจน์สำคัญของบริษัทฯ เกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจส่งออกระหว่างประเทศทุกช่องทางเผชิญปัญหาทั้งระบบ ส่งผลให้สินค้าตกค้างและสร้างผลกระทบรุนแรงโดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สดที่มี Life cycle สั้น แต่ แพลททินัม ฟรุ๊ต เป็นผู้ส่งออกไทยเพียงไม่กี่รายที่สามารถส่งออกผลไม้สดได้ตามเวลาและรักษามาตรฐานทุกขั้นตอน โดยเฉพาะ "ทุเรียน" ที่ส่งไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส สร้างมูลค่ารายได้เพิ่มขึ้นจาก 2,500 ล้านบาท เป็นกว่า 3,300 ล้านบาท ในช่วงเวลาดังกล่าว
ปัจจุบัน บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด สามารถดำเนินธุรกิจได้ครบวงจร ตั้งแต่จัดหาสินค้าเกษตรที่มี "คุณภาพ" โดยคัดเลือกจากสวนผลไม้ที่มีมาตรฐาน GAP และ Global GAP รับรอง มีตลาดส่งออกผลไม้กระจายทั้งในเอเชียและยุโรป มีปริมาณส่งออกเฉลี่ยกว่า 18,000 ตันต่อปี และในปี 2565 ที่ผ่านมาสามารถทำรายได้ถึง 5,200 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีแผนจะต่อยอดขยายศักยภาพจากการเป็นผู้ส่งออกผลไม้สู่การให้บริการโลจิสติกส์ด้านผลผลิตทางการเกษตร เพื่อผลักดันให้สินค้าเกษตรของไทยที่มีจุดเด่นอยู่แล้ว ไปสู่ตลาดโลกในระดับ Premium Quality เหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับ 4 ผลไม้หลักของไทย
ที่มา: Rippleeffect