นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านความยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "การที่ไทยยูเนี่ยนสนับสนุนข้อเรียกร้องทั้งสองโครงการนี้นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวในเส้นทางการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ เพราะทั้งสองโครงการแสดงให้เห็นถึงการตระหนักถึงปัญหาเร่งด่วนที่สุดในด้านสิ่งแวดล้อมโลก และการลงนามในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของไทยยูเนี่ยนในการเป็นผู้นำเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น"
โครงการ Ocean Breakthroughs นำโดยผู้แทนองค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้มหาสมุทรสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ จากยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องลดให้ได้ภายในปี 2593 องค์กรที่ลงนามในโครงการนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศพัฒนาและลงมือปฏิบัติตามแผนการเพื่อความยั่งยืนของมหาสมุทร ซึ่งเป็นกรอบการทำงานในด้านนโยบายและการขับเคลื่อนการดูแลท้องทะเลที่จะสามารถทำให้การใช้ทรัพยากรทางทะเลเป็นไปอย่างยั่งยืน แผนงานต่างๆ เหล่านี้ยังช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากท้องทะเลและสร้างความสมดุลในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายด้านการปกป้องระบบนิเวศทางทะเล และเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน
สำหรับโครงการ Transforming our Food Systems นั้นได้เรียกร้องให้เกิด การปฏิรูประบบอาหารให้ยั่งยืนและเป็นธรรม รับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืนในภาคการเกษตรและการผลิตอาหาร โดยโครงการนี้ต้องการให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในขณะที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากระบบอาหารลง
นายอดัม กล่าวต่อไปว่า "การเข้าร่วมในสองโครงการในครั้งนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไทยยูเนี่ยนในเรื่องอนาคตที่ยั่งยืน อนาคตที่มหาสมุทรจะยังคงเป็นแหล่งทรัพยากรให้กับหลายล้านชีวิตบนโลกนี้ และด้วยกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน หรือ SeaChange(R) 2030 ที่วางเป้าหมายในการทำงานไปจนถึงปี 2573 เราเดินหน้ารวมพลังกับทุกภาคส่วนทั่วโลกเพื่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทาสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนระบบอาหารที่ยั่งยืน และนี่คือความรับผิดชอบที่เราตั้งใจทำในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเล"
กลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange(R) 2030 ของไทยยูเนี่ยน ประกอบด้วยพันธกิจ 11 ข้อที่ครอบคลุมมิติของผู้คนและสิ่งแวดล้อม และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติถึง 10 ข้อ ซึ่งรวมถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42 เปอร์เซ็นต์ในขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 การสนับสนุนงบประมาณ 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศสำคัญ การขับเคลื่อนให้ ผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้อง (เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุกระป๋อง) ภายใต้แบรนด์ของบริษัท 100 เปอร์เซ็นต์จะต้องยึดตามแนวทางด้านโภชนาการ และ 100 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้องที่ออกใหม่ทั้งหมดภายใต้แบรนด์ของบริษัท จะต้องส่งเสริมโภชนาการเชิงบวกเพื่อสุขภาพที่ดี และรวมถึงการขับเคลื่อนให้ 100 เปอร์เซ็นต์ของวัตถุดิบถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มจะได้รับการรับรองว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า
ที่มา: ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป