นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยนายศักดิ์ชัย จงสถาพงษ์พันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชี-การเงิน และนางสาวเกศนรี จองโชติศิริกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด ควบคุมคุณภาพ และพัฒนาความยั่งยืน บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มผู้ค้าคนกลาง ทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยข้อมูลในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน Opportunity Day ประจำไตรมาส 3/2566 โดยเปิดเผยถึงภาพรวมปี 2566 บริษัทยังคงตั้งเป้าปริมาณขายสินค้าที่ 500,000 ตัน จากกำลังการผลิตทั้งหมด 515,600 ตัน โดยการเติบโตมาจากการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าต่างๆ และความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น
สำหรับแผนงานปี 2567 บริษัทฯคาดว่าจะมียอดขายยางพาราอยู่ที่ประมาณ 5 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 5 - 10% จากยอดขายปี 2566 เนื่องจากบริษัทได้ใช้งบลงทุนราว 30 ล้านบาทในการปรับปรุงโรงงาน และครื่องจักรเดิม นอกจากนี้เตรียมงบลงทุนราว 1,400 ล้านบาท สำหรับการลงทุนก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 มีกำลังการผลิต 302,400 ตัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกจะมีกำลังการผลิต 172,800 ตัน คาดว่าโรงงานจะสร้างเสร็จปลายปี 2567 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2568 ซึ่งภายหลังจากการขยายกำลังการผลิตดังกล่าว บริษัทจะมีกำลังการผลิตสินค้ารวมทั้งสิ้น 818,000 ตันต่อปี จากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ 515,600 ตัน ปัจจุบันบริษัทมีการขายให้กับลูกค้าไปถึงไตรมาสที่ 2/2567 แล้ว จากอานิสงค์ของคำสั่งซื้อจากประเทศจีนที่ยังมีความต้องการสูงและราคายางที่ปรับตัวดีขึ้น
ด้านสถานการณ์ราคายางพารานั้น เริ่มมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด (Demand) ภาวะฟื้นตัวไของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มยานยนต์ (รวมยานยนต์ไฟฟ้าตามแผนสนับสนุนของภาครัฐ) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มขยายตัวหนุนความต้องการใช้ยางในภาคก่อสร้าง ซึ่งบริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้บริษัทฯ มีการวางแผนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรเพื่อรองรับการผลิตที่มากขึ้นในอนาคต ตลอดจนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานเพิ่มเติม โดยปัจจุบันบริษัทฯมีพลังงานหมุนเวียน คือ พลังงานจากแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)และไบโอแก๊สที่ผลิตเพื่อใช้งานเองภายในบริษัท รวมกำลังการผลิต 8 เมกกะวัตต์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานของบริษัทได้เป็นอย่างดี
ในปี 2566 นี้ บริษัทฯ ยังดำเนินโครงการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสังคม และมิติด้านบรรษัทภิบาล อาทิ โครงการห่วงโซ่อุปทานเพื่อความยั่งยืน โครงการตลาดสีเขียว โครงการห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ โครงการ NER ร่วมใจลดขยะพลาสติก โครงการตรวจสุขภาพกลุ่มเปราะบาง โครงการส่งสุขความรู้สู่ดวงใจพนักงานผ่านคาราวานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น และจะดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมมากยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปพร้อมกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ
ที่มา: ธามดี พลัส