วว. /บริษัทบีจีซี พัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง ประยุกต์ใช้สาหร่ายขนาดเล็กดักจับคาร์บอนจากกระบวนการหลอมแก้ว แปรรูปอุตสาหกรรมอาหาร

พุธ ๑๓ ธันวาคม ๒๐๒๓ ๒๒:๔๙
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และบริษัทบีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ บีจีซี (BGC) ร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้สาหร่ายขนาดเล็กในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ จากกระบวนการหลอมแก้วและการแปรรูปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 5 อาคาร Admin วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 3 ปี โดยจะดำเนินงานร่วมกันตามนโยบาย BCG Model ตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงสาหร่าย การเพิ่มผลผลิต กระบวนการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีสาหร่ายเป็นส่วนประกอบ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้สาหร่ายขนาดเล็ก ในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการหลอมแก้วและการแปรรูปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและอื่นๆ ต่อไป ภายใต้กรอบดำเนินงานการใช้พื้นที่ร่วมกัน การอบรมพัฒนาความรู้/ฝึกปฏิบัติงาน ความร่วมมือวิจัยและพัฒนา การแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ การเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของ วว. รวมทั้งการสร้างและขยายเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาและบริษัทชั้นนำทั่วโลก

"... เป้าหมายสำคัญของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวง อว. คือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรม และขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ ไปใช้ในการสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในเชิงบูรณาการ เพื่อพัฒนาภาคเศรษฐกิจควบคู่กับสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ...หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นก้าวแรกในการทำงานร่วมกันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว

นายศิลปะชัย วัฒนาเกษตร กรรมการ บริษัทบีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว ในเครือ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นตั้งใจดำเนินธุรกิจให้เจริญก้าวหน้า และมั่นคง โปร่งใส ด้วยหลักธรรมาภิบาลที่ดี ปัจจุบันความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งในประเทศและทั่วโลกนั้นมีค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค และอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ใช้บรรจุภัณฑ์ด้วยกันทั้งสิ้น บีจีซีจึงเดินหน้าต่อยอดและขยายธุรกิจ เพื่อรองรับความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรอย่างแท้จริง ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ใส่ใจในคุณภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

"...มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ วว. ซึ่งมุ่งการทำงานวิจัยที่มีดีมานด์ ไม่ใช่วิจัยขึ้นหิ้ง และมุ่งเน้นความยั่งยืน ที่เป็นแนวทางการดำเนินองค์กรที่ใกล้เคียงกัน วันนี้จะเป็นก้าวแรกและเป็นก้าวที่มั่นคงของบริษัทบีจีฯ และ วว. ผลจากการวิจัยพัฒนาร่วมกันที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นั้น จะนำไปสู่การขยายผลในการร่วมกันทำงานในสาขาอื่นๆ ต่อไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ..." กรรมการ บริษัทบีจีฯ กล่าว

โอกาสนี้ คณะผู้บริหาร บริษัทบีจีฯ ได้เยี่ยมชมภารกิจ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่ายของ วว. (Algal Excellent Center) ด้วย โดย วว. เป็นหน่วยงานแห่งเดียวในประเทศที่มีการดำเนินงานด้านสาหร่ายอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดตั้งคลังเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่าย (TISTR Algae Culture Collection, TISTR ACC) ซึ่งในปัจจุบันมีการรวบรวมและเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็ก (freshwater microalgae) จากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศพร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูล กว่า 1,000 สายพันธุ์ มีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยง วิเคราะห์ และทดสอบ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศคช.) ที่สำคัญและโดดเด่น คือ วว. มีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100-40,000 ลิตร เป็นระบบการเพาะเลี้ยงแบบต่อเนื่องและครบวงจร ปริมาตรรวม 400,000 ลิตร

วว. ดำเนินงานด้านสาหร่าย ดังนี้ 1) ด้านอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาหร่ายอย่างยั่งยืนโดยการจัดตั้งคลังสาหร่าย วว. ณ เทคโนธานี เป็นการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention Biological Diversity, CBD) ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด (ex situ conservation) และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (sustainable utilization) 2) ด้านการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน และ 3) ด้านงานบริการ ได้แก่ การให้บริการสายพันธุ์สาหร่าย การจัดจำแนกชนิดของสายพันธุ์สาหร่าย การตรวจนับจำนวนเซลล์สาหร่าย การให้บริการตรวจวิเคราะห์สารพิษไมโครซิสตินจากสาหร่าย การให้บริการฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงสาหร่าย และการให้บริการที่ปรึกษา

ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ