สสส. สานพลัง สถาบันเอเชียศึกษา-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ จัดทำคู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อ-ผู้จัดละคร สร้าง Soft power

อังคาร ๑๙ ธันวาคม ๒๐๒๓ ๒๒:๓๑
สสส. สานพลัง สถาบันเอเชียศึกษา-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ จัดทำคู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อ-ผู้จัดละคร สร้าง Soft power ที่มีเนื้อหาคุณภาพ ถ่ายทอดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวช ลดการตีตรา ให้ทางออกสังคม

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ที่ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการสัมมนาเชิงนโยบาย เรื่อง "สูญสิ้นสู่ความหวัง: ร่วมประกอบสร้างเรื่องเล่าและข้อเสนอทางเลือกการนำเสนอประเด็นสุขภาพจิตในสื่อ" ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ดำเนินงานด้านสุขภาพจิต มีเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี มุ่ง "สร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตก่อนที่จะเจ็บป่วย" มีแนวทางสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต พฤติกรรม และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตดี สื่อต่าง ๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ รวมทั้งสังคมออนไลน์ มีอิทธิพลต่อสังคม เป็นตัวแทนทางสังคมถ่ายทอดความคิด ความเชื่อ เจตคติ กฎเกณฑ์ แบบแผนของสังคม ครอบครัว กลุ่มเพื่อน สถาบันการศึกษา ศาสนา ที่ทำงานทั้งด้านดีและไม่ดี สสส. จึงร่วมกับ สถาบันเอเชียศึกษา ถอดบทเรียนจากการศึกษาแนวทางการสื่อสารประเด็นสุขภาพจิตในซีรีส์เกาหลี และสร้างความร่วมมือกับคนทำงานด้านสื่อภาพยนตร์/ละครไทย ให้มีคู่มือแนวทางการสื่อสารเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต

"แนวทางการสื่อสารทางด้านสุขภาพจิตที่สำคัญ คือ สื่อสารเพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจ และลดการตีตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่ากลุ่มอื่น การใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการเติมความหวังเมื่อหมดหวัง โดยการค้นหาตัวช่วย เปิดรับความเปลี่ยนแปลง ใช้ความทรงจำดีๆ รวมทั้งทบทวนเป้าหมาย หวังว่า ผู้ผลิตละคร ผู้เขียนบทละคร จะช่วยสะท้อนมุมมอง ปัญหาและดูแลสุขภาพจิตที่ถูกต้อง เกิดความหวังที่จะช่วยกันสร้างคอนเทนต์เชิงบวก ขับเคลื่อนให้เกิดสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เป็นมิตรกับจิตใจ และยังคงมีความบันเทิง ได้รับความนิยมจากผู้ชม" ดร.ชาติวุฒิ กล่าว

ดร.สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยความมั่นคงร่วมสมัยศึกษา และหัวหน้าโครงการวิจัยการจัดการองค์ความรู้และพัฒนาคู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต กล่าวว่า ละคร หรือ ซีรีส์ เป็นสื่อที่ทรงพลัง มีอิทธิพลต่อชุดความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของประชาชน จากการศึกษาวิจัยการสื่อสารประเด็นสุขภาพจิตในซีรีส์เกาหลีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตโดยเฉพาะโรคทางจิตเวช พบว่า สามารถช่วยสื่อสารข้อมูลที่ลดการตีตรา และสร้างความเข้าใจอย่างดีให้กับคนในสังคม นอกจากนี้ เนื้อหาของซีรีส์ยังถ่ายทอดเรื่องราวของโรคทางจิตเวชได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังมีความบันเทิงครบครัน การวางพลอตเรื่องให้ความรู้สึกร่วมน่าติดตาม ทำให้ซีรีส์เกาหลีได้รับความนิยมทั่วโลก ซึ่งผู้ผลิตละครไทยก็มีศักยภาพ สามารถทำได้ไม่แพ้ต่างชาติ

"ปัจจุบันแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากนำความทรงพลังของสื่อมาใช้ ก็จะเข้าถึงประชาชนได้มากและเป็นวงกว้าง สื่อจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชได้เป็นอย่างดี สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ จึงร่วมกับ สสส. จัดทำคู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ หรือผู้ผลิตละครโทรทัศน์ รวมทั้งผู้ผลิตสื่อประเภทอื่น ๆ ใช้สร้างคอนเทนต์ ทำให้ประชาชนซึมซับความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตผู้ป่วยจิตเวชและการดูแลผู้ป่วยจิตเวช พร้อมทั้งนำข้อมูลจากคู่มือมาผลิตเป็นคลิปวีดีโอ 2 คลิป ให้ความรู้เพื่อลดการตีตราและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวช " ดร.สุภาค์พรรณ กล่าว

น.ส.นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ กรรมการและเลขานุการสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ กล่าวว่า เทรนด์ละครฟีลกู๊ด ที่ทำให้หัวใจของผู้รับชมอบอุ่นและยิ้มตามไปด้วย มาแรงในปีหน้า เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจทำให้คนดูไม่อยากเสพอะไรที่เคร่งเครียด หรือหนักเกินไป จากเดิมละครแนวนี้ประสบความสำเร็จได้ยาก นายทุนไม่อยากลงทุน เพราะมีแต่คำชมไม่มีเรทติ้ง ภายหลังละครนอกกระแส อย่าง "หมอหลวง" "มาตาลดา" ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทั้งคำชมและเรทติ้ง ทำให้คนทำละคร คนเขียนบท ต้องฉุกคิดว่าทำอย่างไรให้ละครสื่ออย่างเป็นธรรมชาติและปกติที่สุด ที่ผ่านมาละครเน้นดราม่า ใส่พฤติกรรม หรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรค เช่น ไบโพลาร์ ทำให้เกิดการตีตรา ว่าคนลักษณะแบบนี้ต้องป่วย รูปแบบการนำเสนอมีแต่ปัญหาไม่มีทางออก เป็นข้อควรระวังที่คนทำบทต้องคิดรอบด้าน ในละครอาจใส่เบอร์สายด่วนกรมสุขภาพจิตให้คำปรึกษา หรือหากตัวละครต้องจบชีวิตตัวเอง ก็ไม่ควรนำเสนอเป็นเรื่องสวยงาม เพราะอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบและควรมีคำเตือนขึ้นเสมอ

นายณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้ผลิตละครโทรทัศน์และโปรดิวเซอร์ บริษัท Master One VDO Production จำกัด กล่าวว่า ปัญหาของคนทำละครคือไม่กล้าเจาะลึกในอาชีพ หรือโรค เนื่องจากไม่มีการวิจัย หรือหาข้อมูลเพิ่ม ซึ่งต้องใช้เงินทุนและการสนับสนุนจากผู้จัด และไม่มีหน่วยงานใดบังคับให้ต้องลงลึก จะเห็นว่าละครไทยไม่มีใครรู้ว่าพระเอกนางเอกทำงานอะไร เน้นแต่เรื่องความรัก การแย่งชิง หากค่ายไหนลงลึกรายละเอียด เช่น การแพทย์ ทำถูกก็ดีไป ทำผิดก็ถูกตำหนิ เลยไม่มีใครกล้าทำ บางครั้งหากมีการตรวจ หรือแก้ข้อมูล จากละครที่สนุกอาจกลายเป็นสารคดี หรือวิชาการ ต่างประเทศ ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณ หรือแนวทางทำซีรีส์ เช่น รณรงค์เปลี่ยนค่านิยมให้ผู้ชายเกาหลีเป็นคนอบอุ่น ทุกตัวละครในซีรีส์จะเป็นแนวนี้ หรือต้องการให้คนรักชาติ ก็จะทำซีรีส์แนวทหาร และให้เห็นความอดทนในวิชาชีพ แต่การทำละครไทยมีเรทติ้งเป็นตัววัด หากช่องต้องการละครคุณภาพต้องมีละครเรื่องอื่นที่เรทติ้งดีมาก ซับพอร์ตอย่างน้อย 90% หากช่องไม่ช่วยก็ไม่รอด น้อยมากที่จะออกมาดีทุกมิติเหมือน "มาตาลดา"

ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๔๖ MEDEZE ต้อนรับสถาบันนักลงทุน CSI เยี่ยมชมบริษัท
๑๓:๔๙ บริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด รับประกาศนียบัตร เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประจำปี 2567
๑๓:๔๓ AJA จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ผถห. โหวตผ่านทุกวาระ พร้อมเปิดตัวกลยุทธ์ใหม่ รีแบรนด์ AJ EV BIKE สู่
๑๓:๕๑ SCAP ตั้งเป้าระดมทุนโดยการขายหุ้นกู้1,600 ล้านบาท ชูดอกเบี้ยสูงสุด 5.05% ต่อปี ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB เปิดขายวันที่ 31 ม.ค. และ 3-4 ก.พ.
๑๒:๐๐ สกสว. - สวทช. รุกปั้นกลุ่ม ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม หนุนระบบบุคลากร
๑๒:๑๕ HMD ประเทศไทย เปิดแผนธุรกิจปี 68 ย้ำมุ่งพัฒนาสมาร์ทโฟนคุณภาพ ด้วยปรัชญา ใช้งานปลอดภัย ไว้ใจได้ ด้วยราคาเข้าถึงง่าย
๑๑:๑๒ VEHHA Hua Hin คว้า Fitwel มาตรฐานคอนโดระดับโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตระยะยาว ต่อยอดจุดแข็งสู่ที่สุดของความครบครัน
๑๑:๐๐ ttb reserve มอบประสบการณ์ใหม่เหนือระดับเพื่อลูกค้าคนสำคัญ
๑๑:๓๙ ศิลปะจักสานหลินซู ภูมิปัญญาโบราณสู่ตลาดโลก
๑๑:๐๐ ฉลองครบ 10 ปี HOUSE OF LITTLEBUNNY กระเป๋าแบรนด์ไทย จากกระต่ายน้อยตัวเล็ก เติบโตสู่ตลาดอินเตอร์ จัดแฟชั่นโชว์ยิ่งใหญ่