มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ มอบทุนประจำปี 2566 มูลค่า 2,346,400 บาท เพื่อสนับสนุนการศึกษา งานวิจัย และโครงการด้านเภสัชศาสตร์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 รวมมอบทุน 20,581,519 บาท

จันทร์ ๒๕ ธันวาคม ๒๐๒๓ ๑๔:๓๘
มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 จากแรงบันดาลใจของคุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ บุตรชายเพียงคนเดียวของ ภก.ดร.เกษม และ คุณทับทิม ปังศรีวงศ์ ซึ่งต้องการตอบแทนพระคุณและสืบสานปณิธานอันแน่วแน่ของบิดาผู้เป็นปูชนียบุคคลที่ได้อุทิศตนเพื่อพัฒนาวิชาชีพเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย จึงได้จัดตั้ง "มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์" ด้วยทุนเริ่มต้นจำนวน 100 ล้านบาท โดยมีกำหนดมอบเงินทุนทั้งหมดนี้ภายในระยะเวลา 20 ปี โดยจัดมอบทุนเป็นประจำทุกปีๆ ละ 1 ครั้ง ซึ่งมูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์ในการจัดมอบทุนให้โครงการด้านเภสัชศาสตร์ ประกอบด้วยทุน 5 หมวด ได้แก่ ทุนการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์แก่นักศึกษาที่ตั้งใจเรียนแต่ขาดทุนทรัพย์ และทุนอบรมวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม, ทุนสนับสนุนการวิจัย, ทุนสนับสนุนการประชุมวิชาการ, ทุนสนับสนุนการพัฒนาการประกอบวิชาชีพด้านเภสัชกรรม และอบรมระยะสั้น ใน/ต่างประเทศ และทุนสนับสนุนด้านอื่นๆ ทางเภสัชศาสตร์

คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ ได้จัดมอบทุนอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยไม่มีข้อผูกมัด โดยในปี พ.ศ.2566 ได้จัดพิธีมอบทุนให้แก่นักศึกษาและบุคลากรด้าน เภสัชศาสตร์ รวมทั้งทุนสนับสนุนโครงการงานวิจัย จำนวน 50 ทุน/โครงการ รวมเป็นเงิน 2,346,000 บาท ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ผ่านระบบ Zoom Webinar และโอนเงินทุนสนับสนุนฯ เข้าบัญชีธนาคารของผู้ที่ได้รับทุนทุกท่าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้รับมอบทุนโดยเฉพาะผู้รับทุนที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างจังหวัด

คุณธีระพงศ์ ได้กล่าวย้ำถึงเจตนารมณ์ของการมอบทุนสนับสนุนด้านเภสัชศาสตร์ "แม้ว่าสังคมโลกได้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของวิกฤตโรคระบาดตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อ รวมทั้งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสงครามที่เกิดขึ้นในทวีปต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของประชาชน มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งในการมอบทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีข้อผูกมัด เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาในระดับปริญญาตรีซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงด้านค่าใช้จ่ายในการเรียน รวมทั้งทุนวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ที่จะนำไปใช้พัฒนาต่อยอดและค้นคว้าหาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อเป็นคุณูปการให้กับชาติบ้านเมืองและสังคมโลกต่อไปในภายภาคหน้า ด้วยเล็งเห็นว่าการวิจัยพัฒนาด้านเภสัชศาสตร์ไม่อาจหยุดนิ่งและต้องพัฒนาให้ทันท่วงทีต่อการนำมาใช้ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์และบำบัดภัยคุกคามจากโรคระบาดอุบัติใหม่ที่พร้อมจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา"

ด้าน ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ภก.จอมจิน จันทรสกุล กรรมการบริหารมูลนิธิฯ กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับมอบทุนฯ "มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพวิชาชีพเภสัชกรรมทุกสาขาให้มีความเจริญก้าวหน้า โดยได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ และเป็นเครือข่ายเผยแพร่ เกียรติคุณของเภสัชกรดีเด่นสาขาต่างๆ รวมทั้งประวัติความเป็นมาและปณิธานของเภสัชกรรุ่นบุกเบิกรวมถึงอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ในปี พ.ศ.2566 นี้มีโครงการขอความอนุเคราะห์และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมวดทุนการศึกษาและหมวดทุนงานวิจัย ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิฯ ในการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาวิชาชีพ ผมขอขอบคุณท่านประธานมูลนิธิฯ กรรมการบริหาร และคณะอนุกรรมการที่ให้ความกรุณาและช่วยเหลือให้การดำเนินงานของมูลนิธิเป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้วยดีเสมอมา และขอให้ผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนในครั้งนี้ใช้เงินทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อมนุษยโลกและเพื่อวิชาชีพเภสัชกรรม"

เกียรติประวัติ ภก.ดร.เกษม ปังศรีวงศ์ ท่านเป็นเภสัชกรไทยคนแรกที่สำเร็จปริญญาโทเภสัชศาสตร์ (Master of Science in Pharmacy) จากต่างประเทศ (Philadelphia College of Pharmacy and Science) ท่านมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในวิชาชีพเภสัชศาสตร์และมุ่งมั่นในการวางรากฐานพร้อมบูรณาการวงการเภสัชกรรมแบบครบวงจร ท่านได้สร้างคุณูปการต่อวิชาชีพเภสัชกรรมในหลายๆ ด้าน อาทิ เป็นผู้สร้างรากฐานการจัดการเรียนการสอนนิสิตเภสัช ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 ซึ่ง ภก.ดร.เกษม ได้ร่วมกับ ศ.ชลอ โสฬสจินดา และเภสัชกรอาวุโสบางท่าน ได้ไปพบกับ ดร.ตั้ว ลพานุกรม เพื่อขอให้ท่านช่วยติดต่อกับรัฐบาลพร้อมกันนั้นได้ยื่นหนังสือถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพื่อขอปรับปรุงแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เจริญทัดเทียมกับต่างประเทศ และได้ขยายหลักสูตรการศึกษาเป็น 4 ปีได้สำเร็จ (จากเดิมหลักสูตร 3 ปีและได้รับเพียงประกาศนียบัตร และเรียนอยู่ในห้องเล็กๆ 2 ห้องติดกับห้องผสมยาและจ่ายยาของ รพ.ศิริราช) โดยได้รับวุฒิปริญญาเภสัชกรรมศาสตร์บัณฑิต ขอใช้สีเขียวมะกอกเป็นสีประจำแผนก และก่อสร้างตึกเรียนตึกแรกของแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีกทั้งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างหลักสูตรวิชาเภสัชอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโรงงานผลิตยาระดับอุตสาหกรรม เพื่อผลิตเภสัชกรที่สามารถดำเนินการผลิตยาขั้นอุตสาหกรรมได้ ท่านจึงได้เลือกศึกษาวิชาเภสัชอุตสาหกรรมแม้ว่าประเทศไทยในเวลานั้นยังไม่มีโรงงานผลิตยาขั้นอุตสาหกรรมได้แม้แต่แห่งเดียว อย่างไรก็ตามท่านอาจารย์จำลอง สุวคนธ์ ได้เป็นผู้จัดทำหลักสูตรและสอนวิชาเภสัชอุตสาหกรรมแทน เนื่องจากอาจารย์เกษมต้องรับภาระดำเนินธุรกิจของครอบครัวแต่ท่านก็ยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอนนิสิตเภสัชของประเทศไทย อีกทั้ง ยังมองเห็นการณ์ไกลโดยได้ร่วมลงทุนกับบริษัทผลิตยาชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างโรงงาน เมอร์ค ชาร์พ แอนด์ โดห์ม (ประเทศไทย) ขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเป็นโรงงานอุตสาหกรรมยาขนาดใหญ่แห่งแรกๆ ของประเทศไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศ และนับเป็นบริษัทแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากรัฐบาล

นอกจากนี้ อาจารย์เกษมได้พยายามสร้างความยอมรับและเครือข่ายวิชาชีพเภสัชศาสตร์กับวิชาชีพอื่นๆ ในแวดวงสาธารณสุข โดยอาจารย์เกษมได้ร่วมกับคุณพิชัย รัตตกุล ก่อตั้งสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) และได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม คนแรกในปี พ.ศ.2512 เพื่อยกระดับวิชาชีพและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างผู้ผลิตและจำหน่ายผลผลิตเภสัชกรรม รวมทั้งได้มีบทบาทช่วยเหลือสังคมอีกมากมาย อาทิ ดำรงตำแหน่งนายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ.2489), ได้ช่วยงานสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2494-2519 และดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมปราบวัณโรคฯ (พ.ศ.2503-2507), และเป็นกรรมการมูลนิธิวิจัยประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง(พ.ศ.2507) โดยดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิกว่า 10 สมัย ฯลฯ

ด้วยคุณงามความดีที่ท่านได้สั่งสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาจารย์เกษมได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) จากพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในปี พ.ศ. 2497 และยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (2499) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (2502) และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (2505)

ธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ (คนที่ 6 จากซ้าย) ประธานกรรมการ มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ภก. จอมจิน จันทรสกุล (คนที่ 5 จากซ้าย) กรรมการบริหารมูลนิธิฯ เป็นตัวแทนมอบทุนด้านเภสัชกรรม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาวิชาชีพด้านเภสัชศาสตร์ รวมทั้งทุนสนับสนุนโครงการงานวิจัย ประจำปี 2566 จำนวน 50 ทุน รวมมูลค่า 2,346,400 บาท ให้กับนักศึกษาและบุคลากรด้านเภสัชศาสตร์ โดยมี รศ.ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ (คนที่ 4 จากซ้าย) คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ภก. ธีระ ฉกาจนโรดม (คนที่ 8 จากซ้าย) นายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ภก. สมพงษ์ อภิรมย์รักษ์ (คนที่ 3 จากซ้าย) นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย), รศ.ดร.ภญ. นริศา คำแก่น (คนที่ 9 จากซ้าย) เลขาธิการ วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม และ วิฑูรย์ ริ้วเหลือง (คนที่ 7 จากซ้าย) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด ร่วมแสดงความยินดี ณ อาคาร B.L.H. ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ

มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ ได้จัดพิธีรับมอบทุน ประจำปี 2566 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566

จำนวน 50 ทุน/โครงการ คิดเป็นยอดรวมทั้งสิ้น 2,346,400 บาท ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

หมวด 01 ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี /ทุนการศึกษาต่อระดับวุฒิบัตรฯ

ประเภท ก. ทุนการศึกษา นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ระดับปริญญาตรี 19 สถาบันๆ ละ 2 ทุน รวม 38 ทุน ทุนละ 30,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,140,000 บาท

ประเภท ข. ทุนการศึกษาต่อระดับวุฒิบัตร การฝึกอบรมหลักสูตรเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเฉพาะทาง วิทยาลัยเภสัชบำบัด 2 ทุน ทุนละ 60,000 บาท รวมเป็นเงิน 120,000 บาท

หมวด 02 ทุนสนับสนุนการวิจัย

2.1 โครงการงานวิจัย "การเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดที่ไม่ออกฤทธิ์ต้านวิตามินเค (NOACs) กับยาวาร์ฟารินต่อผลลัพธ์ทางไตในผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว จากข้อมูลการใช้จริงในประเทศไทย"  มอบให้ ภญ.กะรัตเพชร ทองเกตุ  อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  เป็นเงิน 20,000 บาท   

2.2 โครงการงานวิจัย "การติดเชื้อ Carbapenem resistant Klebsiella pneumoniae ในกระแสเลือด : ฤทธิ์ยา เดี่ยวและยาคู่ผสม กลไกการดื้อยาต้านจุลชีพ และปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อผลลัพธ์ทางการรักษา ณ โรงพยาบาลตติยภูมิประเทศไทย" มอบให้ ภญ.จิรคณา เสียงตรง เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ เป็นเงิน 160,000 บาท

2.3 โครงการงานวิจัย " ผลการทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพ กลไกการดื้อยาของเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ที่ดื้อต่อยากลุ่ม Carbapenems และผลการรักษาทางคลินิกของผู้ติดเชื้อ Pseudomonas aeruginosa  ที่ดื้อต่อยากลุ่ม Carbapenems ในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิในภาคใต้ของประเทศไทย" มอบให้ ภญ.ปาริชาติ โชติมากรเภสัชกรปฏิบัติการ  โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช  เป็นเงิน 140,000 บาท

หมวด 03 ทุนสนับสนุนงานประชุมวิชาการ

3.1 การประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติประจำปี 2566 มอบให้ ผศ.ดร.ภญ.สมหญิง พุ่มทอง ศ.ศ.ภ.ท. เป็นเงิน 300,000 บาท

3.2 การประชุมวิชาการนานาชาติ ISIUM Conference 2023 เรื่อง Improving the use of medicines :  Connecting,  learning, moving forward มอบให้ ผศ.ดร.ภญ.เพ็ญกาญจน์  กาญจนรัตน์  อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เป็นเงิน 70,000 บาท

3.3 การประชุมวิชาการวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 หัวข้อ"มุมมองเภสัชกรกับการพัฒนาสมุนไพรหลังยุคโควิด-19" มอบให้ รศ.ดร.ภญ.นริศา คำแก่น เลขาธิการ วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม เป็นเงิน 50,000 บาท

3.4 การประชุมวิชาการ และนิทรรศการระดับนานาชาติ ด้านเภสัชศาสตร์และเทคโนโลยี International Conference and Exhibition on Pharmaceutical Sciences and Technology 2023 (PST 2023) มอบให้ รศ.ดร.ภญ.ทัศนา พิทักษ์สุธีพงศ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ 14 สถาบัน และ มูลนิธิไอเอสพีอี และสมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย) เป็นเงิน 100,000 บาท

3.5  การประชุม 12th Thailand Pharmacy Congress and World Pharmacist Day 2023 มอบให้                  รศ.ดร.ภก.กัมปนาท หวลบุตตา  กรรมการ เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นเงิน 14,400 บาท

หมวด 04 ทุนสนับสนุนการพัฒนาการประกอบวิชาชีพด้านเภสัชกรรม และอบรมระยะสั้นในต่างประเทศ

4.1 2023 International Summer Program on Contemporary Clinical Pharmacy Practice & Education at University of Illinois Chicago, USA มอบให้ ภญ.เอื้อการย์ ภราดรปัจจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเงิน 150,000 บาท

4.2 การอบรมการพัฒนาบัญชียาจำเป็นในภาวะฉุกเฉิน และระบบการจัดการด้านยาสำหรับระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน มอบให้ ภก.ปิยวัฒน์ ดิลกธรสกุล เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเงิน 82,000 บาท

มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ ได้มอบทุนสนับสนุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    2560     รวม  23 ทุน/โครงการ   รวมเป็นเงิน      3,831,000  บาท

    2561     รวม  42 ทุน/โครงการ    รวมเป็นเงิน     3,944,400  บาท

    2562     รวม  49 ทุน/โครงการ   รวมเป็นเงิน      3,637,265  บาท

    2563      รวม  58 ทุน/โครงการ   รวมเป็นเงิน     2,000,000  บาท

    2564      รวม  48 ทุน/โครงการ    รวมเป็นเงิน    2,402,354  บาท

    2565      รวม  60 ทุน/โครงการ    รวมเป็นเงิน    2,420,100  บาท

    2566       รวม  50 ทุน/โครงการ   รวมเป็นเงิน    2,346,400 บาท

               รวม  330 ทุน/โครงการ    ยอดรวม 7 ปี  20,581,519  บาท    

มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ เปิดให้นักศึกษาและเภสัชกรที่สนใจยื่นเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนด้านเภสัชศาสตร์ ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ หรือติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ 02 253 0178-81 ต่อ 308 หรือ E-mail: [email protected]

ที่มา: Cape & Kantary

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ