นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ระหว่างการเคหะแห่งชาติ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ โดยมี นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นายวิเชียร เนียมน้อม ผู้แทนผู้รับใบอนุญาต/ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว พร้อมด้วย นายดุลมลชัย วิวัฒน์บวรวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นายโตมร จันทรา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีลงนามฯ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 5 สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง รวมถึงกลุ่มครัวเรือนเปราะบางให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในราคาที่เหมาะสมและสามารถรับภาระได้ ควบคู่กับการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามวิสัยทัศน์ "สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี" นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืน (Smart and Sustainable Community for Better Well-being : SSC) ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(พ.ศ. 2561 - 2580) โดยได้ดำเนินโครงการ SSC ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนครอบคลุมทั้ง4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ มิติที่ 2 ความมั่นคงของระบบนิเวศ มิติที่ 3 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และมิติที่ 4 สุขภาวะทางสังคม ซึ่งการลงนามฯ ในครั้งนี้ จะสอดคล้องกับมิติที่ 3 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งมุ่งเน้นการให้ความรู้และสนับสนุนการสร้างทักษะเพื่อสร้างอาชีพให้กับเยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้ทุพพลภาพมีรายได้ที่มั่นคง สามารถจุนเจือตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความร่วมมือการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ระหว่าง 3 หน่วยงานนั้น การเคหะแห่งชาติจะพิจารณาเด็กและเยาวชนที่มีคุณสมบัติตามกำหนดเข้ารับทุนการศึกษาในระดับ ปวช. ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ในสาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก และสาขางานธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่ง CP ALL ให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งให้ค่าเบี้ยเลี้ยง และสวัสดิการอื่น ๆ ในระหว่างที่เยาวชนฝึกปฏิบัติงานในพื้นที่ที่บริษัทฯ จัดหาให้ ส่วนวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์จะสนับสนุนการเรียนการสอนให้กับเยาวชนในระบบการศึกษาทวิภาคี โดยเรียนทั้งภาคทฤษฎีสลับกับภาคปฏิบัติ หรือทำงานจริงที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นจนสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ในการฝึกภาคปฏิบัติ เยาวชนจะได้เรียนรู้งานพื้นฐานของร้านค้าปลีก เริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดพื้นที่ขายและตัวสินค้า การจัดเรียงสินค้า การเป็นพนักงานขาย พนักงานแคชเชียร์การทำบัญชีการเงิน การสั่งสินค้า การส่งเสริมการขาย เป็นต้น และเมื่อเรียนจบแล้ว CP ALL จะรับเยาวชนที่มีคุณสมบัติและวุฒิการศึกษาตรงตามที่บริษัทฯ กำหนดเข้าทำงานอีกด้วย
"ต้องขอขอบคุณ CP ALL และวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ที่ตระหนักถึงความสำคัญในการให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กและเยาวชนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติได้มีโอกาสเรียนรู้และทักษะอาชีพจากการปฏิบัติงานจริง ซึ่งจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีความรับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัวมากขึ้น รวมถึงได้เห็นคุณค่าของเงินที่ได้จากการทำงานด้วยตนเอง รู้จักประหยัดเงิน และมีวินัยทางการเงินมากขึ้นอีกทั้งยังสามารถนำแนวคิดการทำธุรกิจค้าปลีกมาต่อยอดการเรียนรู้สู่การเป็นผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ตามนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้อีกด้วย"
ที่มา: พีเอ็มพี