นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 70,000 หลังคาเรือน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และมีโอกาสเกิดความเสี่ยงทางสุขภาพ กรมอนามัยมีความห่วงใยสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม พบประชาชนเริ่มมีภาวะเจ็บป่วยจากโรคที่มากับน้ำท่วม ตลอดจนปัญหาโรคแทรกซ้อนจากการปนเปื้อนเชื้อโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ ที่มาจากการจัดการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำบริโภค โดยเฉพาะเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียที่มากับอุจจาระจากการมีพฤติกรรมอนามัยที่ไม่ดี ไม่ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าส้วม ทำให้เกิดภาวะท้องเสีย ท้องร่วงเฉียบพลัน
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ในช่วงระหว่างเกิดสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการ อธิบดีกรมอนามัย ได้สั่งการให้ทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมกรมอนามัย หรือ ทีม SEhRT จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ชุดทดสอบด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิ่งสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ลดความเสี่ยงสุขภาพจากปัญหาโรคที่อาจแทรกซ้อนมายังประชาชน นอกจากนี้ กรมอนามัย ได้ส่งทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา นำทีมโดยนายแพทย์อรรถสิทธิ์ แดงมณี ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ประสบภัย และศูนย์อพยพช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดจัดตั้งขึ้นสำหรับช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
"ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญของทีม SEhRT ในการสนับสนุนภาวะฉุกเฉินกรณีน้ำท่วมภาคใต้ ประกอบด้วย 1) การเฝ้าระวังด้านการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งการตรวจวิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยง ทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารทั้งที่ได้รับบริจาค และอาหารที่ประกอบปรุงเอง รวมทั้งในน้ำอุปโภคบริโภคทั้งในชุมชน และศูนย์อพยพฯ 2) สนับสนุนชุดสาธิตเราสะอาด (V-Clean) ที่ประกอบด้วย สารส้ม ปูนขาว คลอรีน เพื่อใช้สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ตลอดจนวัสดุ เคมีภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ในการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมอื่นร่วมด้วย 3) สนับสนุนชุดดูแลสุขอนามัย (Sanitation Tool kit) ประกอบด้วยเจลแอลกอฮอล์ น้ำยาล้างมือ หน้ากากอนามัย สำหรับประชาชนใช้ในการดูแลตนเองป้องกันเชื้อโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพ 4) ประเมินความเสี่ยงด้านสุขาภิบาล ทั้งการจัดการมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะ ประสานหน่วยงานท้องถิ่นจัดถังขยะแยกประเภทมีฝาปิดมิดชิด การจัดการห้องน้ำห้องส้วมสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย การควบคุมป้องกันสัตว์แมลงนำโรค เช่น แมลงวันที่มาจากขยะสิ่งปฏิกูลที่เป็นพาหะของโรคอุจจาระร่วง และ 5) ประสานการประปาภูมิภาคเขต 5 หาดใหญ่ เพื่อขอรับการสนับสนุนน้ำสะอาดสำหรับใช้ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม สำหรับในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่ประชาชนออกจากบ้านไม่ได้ ไม่มีน้ำสะอาดใช้ ทีม SEhRT ศูนย์ อนามัยที่ 12 ยะลา ได้ลงพื้นที่พบประชาชนเพื่อให้ความรู้ในการทำน้ำสะอาดด้วยตนเองด้วยการใช้สารส้ม คลอรีนเป็นการฆ่าเชื้อโรคก่อนนำน้ำมาใช้ ช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพประชาชน" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข